กล้วยตีบ ความเชื่อพื้นบ้านเกี่ยวกับพืชของคนล้านนา

0
1913

กล้วยตีบ ความเชื่อพื้นบ้านของคนล้านนาเกี่ยวกับพืช กล้วยตีบพืชรักษาโรคริดสีดวงจมูก พืชที่มีความเชื่อทางด้านพิธีกรรมทำให้ผู้หญิงที่ตนรักใคร่มาชอบตนได้

กล้วยตีบ เป็นกล้วยชนิดหนึ่ง ลักษณะใบไม่กางออกเหมือนกล้วยชนิดอื่นผลคล้ายกล้วยหอม มีขนาดเล็กเท่ากล้วยไข่ ใบแห้งใช้มวนสมุนไพรสูบ เพื่อแก้โรคริดสีดวงจมูก

กล้วยตีบ เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี ลำต้นเทียมสูง 3-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 20 ซม. สีเขียวไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว สมัยก่อน จำได้ว่า “กล้วยตีบ” มีปลูกตามบ้านในชนบทมากมาย โดยปลูกแซมกับกล้วยชนิดต่างๆ แต่การปลูก “กล้วยตีบ” ในยุคนั้น ไม่ได้ปลูกเพื่อรับประทานผล จะปลูกติดสวนหรือปลูกติดบ้านไว้ใช้ ประโยชน์ทางสมุนไพรเท่านั้น เนื่องจากรสชาติของผลสุกไม่หวานอร่อยเหมือนกับกล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหอมทั่วไป ผลมีขนาดเล็ก จึงนิยมปลูกไว้ทำยาอย่างเดียวตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่ง ในปัจจุบัน “กล้วยตีบ” หายากมาก ส่วนใหญ่จะมีปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรใหญ่ๆไม่กี่แห่ง จึงอยากรณรงค์ให้ช่วยกันปลูกอนุรักษ์ ก่อนที่ “กล้วยตีบ” จะสูญพันธุ์ไม่มีให้พบเห็นอีกในอนาคต

นอกจากนั้นใบของกล้วยตีบ ยังใช้ประกอบพิธีกรรมทำให้ผู้หญิงที่ตนรักใคร่มาชอบตนได้ โดยการนำใบดิบมาลงอักขระคาถา พร้อมทั้งใส่ชื่อของหญิงที่ต้องการให้มาหลงรัก จากนั้นจึงม้วนนำไปให้วัวกิน คนล้านนาเชื่อว่าจะทำให้หญิงสาวที่มีชื่อปรากฏในใบกล้วยนั้นหันมาหลงรักคนที่ทำ ถึงขนาดหลงใหล กระวนกระวายใจเมื่อไม่ได้พบเห็น

กล้วยตีบ เชื่อว่าเป็น กล้วยตานีป่า เพราะลักษณะทุกอย่างเหมือนกันมาก จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นพันธุ์แท้ของกล้วยตานี หรือพันธุ์ที่ได้กลายพันธุ์ไปจากพันธุ์แท้ แต่ยังมีลักษณะพันธุ์ แท้อยู่มาก อยู่ในวงศ์ MUSACEAE ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทั่วไป พบมากทางภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำต้นเทียมสูง 3-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 20 ซม. สีเขียวไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในก็เป็นสีเขียว ก้านใบสีเขียว ก้านสั้นกว่าก้านใบกล้วย ตานีเยอะ และมักไม่มีร่อง สีของใบ มักจะเหลือง ใบสั้นและเล็กกว่าใบกล้วยตานี ที่สำคัญ “กล้วยตีบ” จะดูคล้ายต้นกล้วยใกล้จะตาย จะบำรุงอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น จะดูเหมือนกับต้นกล้วยโทรมๆตลอดเวลา

ดอก/ปลี ก้านช่อดอก หรือเครือเป็นสีเขียว ไม่มี ขน ใบประดับปลีค่อนข้างป้อมสั้น ปลายมน ด้านบนเป็นสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางและจะม้วนงอ

ผล เครือหนึ่ง จะมีหวีเพียง 1-2 หวีเท่านั้น แต่ละหวีจะมีผลประมาณ 7-8 ผล ไม่เกิน 10 ผล ผลสุกเป็นสีเหลือง เช่นเดียวกับผลกล้วยตานี แต่ขนาดของผล “กล้วยตีบ” จะเล็กกว่าเยอะ รสชาติฝาดปนเย็น ไม่นิยมรับประทาน ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทั่วไป พบมากทางภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สรรพคุณ:

ตำรายาโบราณ เอา ราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ
ใบสด กะจำนวนตามต้องการ ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันตามผิวหนังได้
ใบตากแห้ง มวนยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
ใช้เหง้าผ่าเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาด 3×3 นิ้ว ย่างไฟให้ร้อนห่อด้วยผ้าประคบบริเวณที่ปวด โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะข้างเดียว
ใช้ต้นเผาไฟแล้วบีบเอาน้ำผสมน้ำนึ่งข้าวนำมาประคบแก้ปวดแขนปวดขา
ใช้ใบเข้าตำรับยา อยู่ไฟ ออกไฟ และใช้ปิดฝาหม้อต้มยาแก้ผิดเดือน(อาการเลือดลมไม่ปกติในสตรี)

รากกล้วยตีบ อยู่ในพิกัด ตรีอมฤต คือจำนวนตัวยาที่ไม่ตาย 3 อย่างคือ
รากมะกอก รากกล้วยตีบ รากกระดอม มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร

และอยู่ในตำรายาเหลืองปิดสมุทร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มยาแก้ท้องเสีย
สูตรตำรับในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย
1. เหง้าขมิ้นชัน หนัก 30 กรัม
2. ชันย้อย ครั่ง สีเสียดเทศ เปลือกสีเสียดไทย ใบเทียน ใบทับทิม หัวแห้วหมู เหง้าขมิ้นอ้อย เปลือกเพกา รากกล้วยตีบ หัวกระเทียมคั่ว ดอกดีปลี หนักสิ่งละ 5 กรัม
บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
น้ำกระสายยาที่ใช้
• ใช้น้ำเปลือกลูกทับทิมหรือเปลือกแคต้ม แทรกกับน้ำปูนใสเป็นน้ำกระสายยา สำหรับเด็กเล็กให้บดผสมกับน้ำกระสายยา ใช้รับประทานหรือกวาดก็ได้
• ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน

ตำรายากลางบ้าน
ยาแก้โรคบิด ผลกล้วยตีบดิบๆ นำมาปอกเปลือกออกแล้ว ฝนกับฝาละมีหม้อดิน ผสมกับเหล้า ใช้น้ำยารับประทาน ประมาณ 1 ถ้วยชา มีสรรพคุณแก้โรคบิดให้หายไปได้ผลดีอย่างชะงัดนักแลฯ
– พระครูรัตนานุรักษ์ วัดปงสนุกใต้ ลำปาง.
(กล้วยตีบ มีลักษณะคล้ายกล้วยตานี แต่ใบและลูกเป็นสีเหลืองๆ คล้ายต้นที่จะตาย เครือหนึ่งมีประมาณ 1- 2 หวี มีอยู่ตามชายเขาทางภาคเหนือ และที่อื่นๆ ทั่วไป)

ที่มา
http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=1126&name=-
http://www.doae.go.th/library/html/detail/banana/page81.html
http://textbook.samunpri.com/?p=157
http://www.thairath.co.th/column/edu/paperagriculturist/46235
http://goo.gl/uHlws
http://www.nlem.in.th/medicine/herbal/book#term-634
http://www.warin.ac.th/web/botany/PlantRegis.html
http://images.sbencha.multiply.multiplycontent.com/attachment/0/THULzgooCj0AABy-CKM1/all%20about%20Banana.pdf?key=sbencha:journal:14&nmid=360580602
http://piromwaroon.blogspot.com/2013/03/blog-post_2342.html