ทำบุญ เข้าพรรษา เชียงใหม่ วัดไหนดี

0
1160
ทำบุญ วันอาสาฬหบูชา ถวายเทียน เข้าพรรษา เชียงใหม่ วัดไหนดี

ทำบุญ วันอาสาฬหบูชา ถวายเทียน เข้าพรรษา เชียงใหม่ วัดไหนดี

วันอาสาฬหบูชา กับ วันเข้าพรรษา กำลังจะมาถึงแล้ว สำหรับใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ หรือพักอาศัย ทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งล้านนานี้แล้ว ช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษานี้ อยากทำบุญถวายเทียน และปัจจัยให้พระสงฆ์ สามเณร ในช่วงเข้าพรรษานี้ ไม่รู้จะไปที่ไหนก็สามารถนำลิสต์ของเราไปทำบุญกันได้เลย ด้วยตัวเมืองเชียงใหม่นั้น มีวัดมากมาย วัดในสไตล์ล้านนาเก่าแก่ ที่มีคุณค่าที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้น่าชื่นชม เราจะมาแนะนำ วัดที่น่าไปทำบุญในช่วงเข้าพรรษานี้ที่วัดในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไหว้พระให้อิ่มบุญ สำหรับสายบุญและสายมูเตลูทั้งหลาย

1. วัดเจ็ดลิน

วัดเจ็ดลิน เดิมเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปีพุทธศักราช 2060 จากเอกสารการค้นคว้าของคุณวัลลภ นามวงศ์พรหม คณะกรรมการประสานงานพัฒนา วัดเจ็ดลิน และโคลงนิราศหริภุญไชย

ตามประวัติกล่าวว่า กษัตริย์ราชวงศ์มังรายก่อนจะขึ้นเสวยราชย์ทุกพระองค์ จะทรงผ้าชุดขาว (นุ่งขาวห่มขาว) ณ วัดผ้าขาว จากนั้นจะเสด็จ ไปสะเดาะเคราะห์ ณ วัดหมื่นตูม และจะเสด็จมาประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน ซึ่งจะมีรางน้ำ เรียกว่า “ลิน” ทำด้วยทองคำ หลั่งน้ำพุทธาภิเษกจากสุวรรณหอยสังข์ หล่อลงรางลินทำด้วยคำทั้ง 7 เพื่อสรงพระวรกาย แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์ต่อไป

ในสมัย เจ้าแม่ฟ้ากุ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ได้ทำพิธีราชาภิเษก โดยเสด็จ ไปสรงน้ำพระที่ วัดเจ็ดลิน “คำเชิญกษัตริย์เจ้า ไปลอยเคราะห์นอนหั้นแล 3 วัน แล้วไปอุสสาราช หล่อน้ำพุทธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวรรณหอยสังข์ที่วัด 7 ลินคำ หั้นแล…..”

ในอดีตวัดเจ็ดลินเคยรุ่งเรืองมาก ทราบได้จากหลักฐานโฉนดที่ดินในปี พ.ศ. 2482 ว่ามีเนื้อที่ 7 ไร่เศษ แต่ต่อมากลายเป็นวัดร้าง

ต่อมาได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2545 โดยพระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ภายในวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่สภาพสมบูรณ์อยู่กลางวัด

จากนั้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นประธานพัฒนาฟื้นฟูวัดเจ็ดลิน และขอยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ72 พรรษา และพัฒนาหนองน้ำที่กว้างให้คงเป็น หนองน้ำที่ใสสะอาดสวยงาม ให้คงเป็นหนองน้ำแห่งประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันพระมหาวิษณุ จารุธัมโม ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดลิน

แผนที่การเดินทางไปวัดเจ็ดลิน

2. วัดพวกแต้ม

วัดพวกแต้ม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีหลักฐานความเป็นมาในการสร้าง วัดพวกแต้ม แต่จากหลักฐานทางโบราณวัตถุต่าง ๆ ภายในวัด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อ เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะสมบุญ ล้างบาป หาความสุขสงบและเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยคำว่า “พวก” หมายถึง หัวหน้าหมู่ซึ่งเป็นขุนนางยศต่ำ พวกแต้มคงเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมด้านการช่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเขียนภาพจิตรกรรม การลงรักปิดทอง หรือ ปิดทองร่องชาด[1] เมื่อกลับจากการทำสงครามจึงได้รับปูนบำเหน็จแล้วนำเงินนี้มาสร้างวัดเพื่อล้างบาป อาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล กล่าวว่า วัดพวกแต้ม เดิมชื่อ วัดต้องแต้ม โดยคำว่า ต้อง มีความหมายว่า ปัก สลักหรือฉลุ ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “วัดพวกแต้ม” เหตุที่ให้ความหมายเช่นนี้อาจมาจากการที่ ในละแวกใกล้เคียงกับวัดมีอาชีพทำเครื่องฉลุมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ก็เป็นได้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2486 และบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2533 เป็นอุโบสถทรงพื้นเมืองมีลวดลายและไม้แกะสลัก วิหารศิลปะล้านนา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมาคลุมราวบันไดพญานาค และมีมุขเข้าทางด้านข้าง ลวดลายหน้าหน้าเป็นลายพรรณพฤกษา ประตูด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปเทวดายืนประนมหัตถ์ แกะสลักด้วยไม้ปิดทอง หอไตรสร้างแบบผสมผสานระหว่างล้านนากับพม่าและได้รับการบูรณะดัดแปลงในภายหลัง เจดีย์ศิลปะพม่า มอญ ปนศรีวิชัย คงได้รับการอุปถัมภ์จากคหบดีชาวพม่า มีการตกตกแต่งลวดลายบนเจดีย์ในการบูรณะ องค์ระฆังจนถึงฉัตรมีรูปแบบพม่า มอญอย่างชัดเจน

แผนที่การเดินทางไปวัดพวกแต้ม

3. วัดทรายมูลเมือง

วัดทรายมูลเมือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดทรายมูลเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2030 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2450 เดิมวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เริ่มแรกเป็นอารามมีนามว่า อารามบ้านปะ อาจเป็นเพราะสายน้ำ ที่ไหลมาจากดอยสุเทพแล้วมาประจบกันที่นี่ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำ ณ จุด นี้จึงได้ชื่อว่า หนองทรายมูล อีกเหตุผลคือ เป็นจุดที่มีการขุดเอาดินขึ้นมาเพื่อเอาดินมาปั้นอิฐเพื่อนำไปก่อสร้างกำแพงเมืองชั้นในของนครเชียงใหม่จนทำให้ตรงนี้กลายเป็นหนองน้ำ

อาคารเสนาสนะภายในวัด ได้แก่ หอไตรสร้างโดยช่างฝีมือชาวล้านนา ตั้งอยู่บริเวณสระน้ำ ต่อมาได้ย้ายหอไตรมาไว้ในเขตวัดในที่ตั้งปัจจุบัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปีฉลู วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ซึ่งใช้งบประมาณ 98,157 บาท วิหารศิลปะล้านนา เจดีย์ศิลปะล้านนา และกุฏิเจ้าอาวาส แบบล้านนาประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปหลูบเงิน เป็นพระที่หล่อด้วยเงินแท้ หล่อเมื่อ พ.ศ. 2430 และพระสิงห์ 1 เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์

แผนที่การเดินทางไปวัดทรายมูลเมือง

4. วัดผ้าขาว

วัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 36 ถนนราชมรรคา ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

วัดผ้าขาว เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จากเอกสารที่พอมีของทางวัด ทำให้สันนิษฐานว่าวัดผ้าขาวมีอายุประมาณ 600 ปี และวัดนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยพ่อเจ้ามหาชีวิต ซึ่งเป็นโอรสของพ่อเจ้าชีวิตอ่าว ส่วนจะสร้างเมื่อวันที่ เดือน และปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน เพราะเคยเป็นวัดร้างมานาน สถานที่ตั้งวัดแห่งนี้ เดิมเป็นป่ารกชัฏ มีซากปรักหักพังของโบสถ์ วิหาร ศาลา ต่างๆปรากฏอยู่ แต่ต่อมาก็มีการซ่อมแซมจนเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ อนึ่ง มีเกร็ดเล็กๆ เล่าสืบกันมา เกี่ยวกับการขนานนามชื่อของ “วัดผ้าขาว” ว่า บริเวณที่ตั้งวัดผ้าขาวนี้ เดิมเป็นข่วง ( สนามสาธารณประโยชน์ ) ใช้เป็นสถานที่ชุมนุมกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดขบวนแห่หรือพิธีการจิปาถะ จะมีการเลือกเอาบริเวณนี้เป็นที่ชุมนุมจัดตั้งขบวนทุกครั้ง มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งโอรสของเจ้าผู้ครองเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ จะขึ้นครองราชแทนพระราชบิดา ( จะเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ใดนั้นเอกาสรไม่ได้ระบุไว้ ) ได้มาจัดขบวนแห่ ณ บริเวณนี้ โดยให้ทุกๆคนที่มาร่วมในพิธี แต่งตัวด้วยชุดขาวทั้งหมด แม้แต่พระองค์เองก็จะทรงเครื่องขาวทั้งชุดเช่นกัน จนทำให้บริเวณนั้นปกคลุมด้วยผ้าสีขาว ประชาชนที่ร่วมชุมนุมร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้โฮผ้าขาว” เมื่อได้ฤกษ์งามยามดี จึงลั่นฆ้องชัย เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณนั้น เดินขบวนไปทางทิศเหนือ เมื่อแห่ขบวนไปถึงวักเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ก็เสด็จลงจากเฉลียงแห่ นำประชาราษฎร์เข้าสู่วัดเชียงมั่น กระทำพิธีราชาภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองเมือง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่สืบไป จึงถือเป็นนิมิตร ที่ประชาชนตลอดเจ้าผู้ครองนครแต่งและทรงเครื่องขาวทั้งชุด จนมองเห็นบริเวณนั้นเป็นเสมือนผ้าขาวปกคลุมอยู่ จึงขนานนามวัดนี้ว่า “วัดผ้าขาว”

แผนที่การเดินทางไปวัดผ้าขาว

5. วัดพวกหงษ์

ดพวกหงส์ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 68 ถนนถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์:053-278864 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2060

ประวัติของการสร้าง วัดพวกหงษ์ ในปีไหนนั้นบางตำราก็ไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่มีหลักฐานแน่นอนว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถ้าอ้างตามหนังสือวัดสำคัญของนครเชียงใหม่ ของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้น

วัดพวกหงษ์สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๐๖๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคาสีมา เมื่อพ.ศ. ๒๐๖๒ เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีจารึกเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดนี้เลย มีแต่จารึกการสร้างวิหารหลังจากที่ร้างไป เป็นภาษาล้านนา จึงไม่ทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง อย่างไรก็ตามวัดนี้มีปรากฏในรายชื่อวัดโบราณในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ถ้าถือตามนี้ก็น่าจะร่วมสมัยกับวัดตโปธาราม ซึ่งสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย

จากการสอบถามจากเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านพระครูสิริพัฒนานุกูล ถึงที่มาของวัด ซึ่งท่านกล่าวว่า ที่มาของชื่อของวัดมาจาก เป็นชื่อของย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสมัยนั้น คือ เป็นพวกมอญที่มาจากเมืองหงสาวดี เข้ามาเมื่อสร้างวัดแล้วหรืออย่างไรไม่กล้ายืนยัน วัดพวกหงษ์นี้เคยเป็นวัดร้างมาสมัยหนึ่ง โดยหลงเหลือแต่เจดีย์และวิหารที่เหลือแต่ฐานเท่านั้น ต่อมาพระเจ้าไชย-เชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งล้านนาไทย ก็ได้ทรงสร้างวิหารใหม่และบูรณะถาวรวัตถุอื่น ส่วนหอไตรนั้นได้เสื่อมโทรมไปไม่มีตัวอาคาร เหลือเฉพาะคัมภีร์ธรรม ๒,๑๐๐ กว่าผูก และตู้พระธรรม ต่อมามีการบูรณะสิ่งก่อสร้างภายในวัดในยุคต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

แผนที่การเดินทางไปวัดพวกหงษ์

6. วัดผาบ่อง

วัดผาบ่อง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีที่ดินตั้งวัดประมาณ 2 ไร่

วัดผาบ่อง เดิมเรียกว่า วัดผาบ่องปราสาท มีเนื้อที่ติดกับวัดปราสาท ผู้ให้การสนับสนุนการสร้างวัดทั้งสองเป็นคนในตระกูลเดียวกัน และมีประตูเล็ก ๆ ไปมาหาสู่กัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2015 ตามตำนานวัดผาบ่องได้กล่าวว่า ประมาณ พ.ศ. 1967–2030 อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2035 โดยกลุ่มเงี้ยวซึ่งอาศัยอยู่วัดผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (แม่ฮ่องสอนมีวัดผาบ่องเหนือและวัดผาบ่องใต้) จากนั้นได้อพยพมาอยู่ที่เชียงใหม่ และได้สร้างวัดผาบ่องซึ่งเรียกตามชื่อของหมู่บ้าน

ภายในวัดมีพระพุทธรูปปางสัมฤทธิ์ทองคำหนัก 680,000 บาท วิหารทรงล้านนา มีมุขยื่นออกมาทางด้านเหนือเจดีย์ เจดีย์ เป็นทรงปราสาท มีซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน และมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านมักต่างพากันเดินทางมาขอน้ำไปประกอบพิธีทางศาสนา สะเดาเคราะห์ สืบชะตา ทำน้ำมนต์ ดื่ม และขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกาย

แผนที่การเดินทางไปวัดผาบ่อง

7. วัดปราสาท

ตามข้อความศิลาจารึกของวัดตโปทาราม ได้กล่าวถึงเจ้าอาวาสวัดปราสาท ชื่อ พระมหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า ได้รับอาราธนาจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไปร่วมสังฆกรรมสวด แสดงในฐานะพระเถรชั้นผู้ใหญ่ แผ่นศิลาจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13–16 ว่า “มหาสามาญาณสมโพธิป่าแดง มหาสุรสี มหาโพธิ์ มหาเถรธรรมเสนาปติเจ้า มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า” คำว่าปราสาทเจ้า น่าจะหมายถึงว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ประทับของเจ้านาย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2035 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2040 พระยาหลวงแสนคำได้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยถวายไว้ที่ วัดปราสาท เมื่อ พ.ศ. 2133 ซึ่งปรากฏจารึกข้อความไว้ที่ฐานพระองค์นี้ด้วย

พ.ศ. 2366 ในสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกาได้มีการบูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้พระยาหลวงสามล้านสร้างวิหารขึ้น ต่อมากรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนด ขอบเขตวิหารวัดปราสาทในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2522

แผนที่การเดินทางไปวัดปราสาท

8. วัดป้านปิง

วัดป้านปิง คำว่า “ป้านปิง” หมายถึง เป็นแนวขวางแม่น้ำปิง ไม่ได้หมายถึงสร้างมาเพื่อขวางแม่น้ำปิง แต่หมายถัง วัดป้านปิง ได้กั้นภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิงไม่สามารถข้ามมาได้ ซึ่งในอดีตมีภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ เช่นในสมัยพญามังราย จากกองทัพจากพม่าและกองทัพจากอยุธยา เป็นต้น สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยพญามังราย จนถึงสมัยพญาแสนเมืองมา (ราว พ.ศ. 1839–1954) เมื่ออาณาจักรล้านนาล่มสลายวัดต่าง ๆ จึงชำรุดทรุดโทรมลงรวมทั้งวัดป้านปิงด้วย จนกระทั่งได้สถาปนาอาณาจักรล้านนาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2324 และราว พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละได้เป็นมหาศรัทธาปก (บูรณะ) วัดต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงจะรวมวัดป้านปิงด้วย

จากสมุดข่อยระบุว่า วันเพ็ญเดือน 5 พ.ศ. 2382 ได้สร้างและฉลองอุโบสถของวัดขึ้น ในการสำรวจวัดในเขตเมืองเชียงใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2399–2413 ได้ระบุถึงเจ้าอาวาสชื่อ พระภิกษุธรรมปัญญา นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกชื่อเจ้าอาวาสไว้ จากข้อมูลชองสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2025 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2115

แผนที่การเดินทางไปวัดป้านปิง

9. วัดหมื่นล้าน

วัดหมื่นล้าน ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2002–2005 ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้สร้างวัดคือ หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่แม่ทัพของอยุธยา ที่พ่ายในการทำสงครามจนต้องเสียชีวิตในสนามรบ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกกองของล้านนา โดยได้หาสถานที่สร้างวัดบริเวณภายในกำแพงเมืองเบื้องบูรพาทิศ ห่างจากประตูเมืองไปยังใจกลางเมือง 100 ขาธนู (1 ขาธนูเท่ากับ 1 วา) คือประมาณ 100 วา ในปีมะเส็ง จ.ศ. 822 ตรงกับ พ.ศ. 2002 มีบันทึกว่า คหบดี นามว่า หลวงโยนะการพิจิตร (ต้นตระกูล อุปะโยคิน) ได้สละทุนทรัพย์สร้างขึ้นมาทดแทนของเดิมที่เสียหาย ช่วงปี จ.ศ.1279

สิ่งสำคัญของวัดคือ เจดีย์และลวดลายหน้าบันของวิหาร ศิลปะแบบพม่า มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัชราสน์ (ขัดสมาธิเพชร) สร้างปี พ.ศ. 2460 ในสมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ

ปี พ.ศ. 2563 วัดหมื่นล้าน ทำการบูรณะบานประตูโบราณ ด้วยการทาสีชาดและลงรักบานประตูวิหารปิดทับลายรดน้ำเดิม จนมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ ทางผู้เชี่ยวชาญพบว่า สามารถลอกสีที่ทาทับได้ และพบลายรดน้ำบนบานประตูยังอยู่ ส่วนลายฉลุทองประดับผนังหลังองค์พระประธานนั้น ทางวัดได้ทำการสกัดถอดออกจากผนังจนเสียหายทั้งหมด จึงไม่สามารถซ่อมแซม หรือ ฟื้นคืนสภาพได้แล้ว

แผนที่การเดินทางไปวัดหมื่นล้าน