พญามังราย

0
2658
พญามังราย

พญามังราย (คำเมือง: Lanna-Phaya Mengrai.png พ.ศ. 1782–1854) เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราวเมื่อ พ.ศ. 1804และต่อมาทรงสร้าง อาณาจักรล้านนา เมื่อ พ.ศ. 1839 จึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรดังกล่าวด้วย

พระนาม

พระนาม “มังราย” นั้นปรากฏในศิลาจารึก ตำนาน และเอกสารดั้งเดิมทุกชนิด มีแต่พงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเอกสารในสมัยหลัง ๆ ซึ่งอ้างอิงพงศาวดารโยนก ที่ออกพระนามว่า “เม็งราย”[1]

ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต กล่าวว่า “เม็งราย” เป็นการเขียนที่ผิด[2] อย่างไรก็ดี มีสถานที่หลายแห่งใช้ชื่อว่า “เม็งราย” ไปแล้ว เช่น ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และค่ายเม็งรายมหาราช ในจังหวัดเชียงราย กับทั้งวัดพระเจ้าเม็งราย ในจังหวัดเชียงใหม่

มีการสันนิษฐานว่า ที่พงศาวดารโยนกเรียก “เม็งราย” เป็นกุศโลบายทางการเมืองของรัฐบาลสยามในสมัยนั้น เพราะเมื่ออังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคมแล้ว ก็หมายจะยึดดินแดนล้านนาด้วย โดยใช้เหตุผลว่า ล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า เมื่อพม่าเมืองแม่เป็นของอังกฤษแล้ว ล้านนาเมืองลูกย่อมเป็นของอังกฤษตามกันด้วย แม้ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนายังมีพระนามว่า “มังราย” ซึ่งน่าจะบ่งบอกว่าล้านนาเป็นของพม่ามาแต่เดิมแล้ว (“มัง” เป็นคำนำหน้าชื่อชายพม่าชนชั้นสูง ซึ่งภาษาพม่าปัจจุบันเรียกว่า “มิน” เช่น มังมหานรธา มังสามเกียด ฯลฯ) รัฐบาลสยามจึงแต่งประวัติศาสตร์ล้านนาโดยจงใจแก้ “มังราย” เป็น “เม็งราย” และประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ได้รับความนิยมจนมีการอ้างถึงสืบ ๆ มา[3]

พระราชกำเนิด

พระองค์เป็นพระราชโอรสของลาวเมง พระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว กับนางเทพคำขยาย พระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย พระมหากษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา[1]
การรวบรวมแผ่นดิน
การผนวกหัวเมือง

เมื่อเสวยราชย์สืบจากพระราชบิดาใน พ.ศ. 1804 แล้ว พญามังรายหมายพระทัยจะสร้างพระราชอาณาจักรใหม่ จึงทรงรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ที่ดำรงตนเป็นอิสระให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยทรงเริ่มพระราชภารกิจนี้ในหัวเมืองฝ่ายเหนือก่อน แล้วขยายมาฝ่ายใต้[1]

ในช่วงนั้น ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1805[1] และทรงสร้างเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. 1816, เมืองชะแว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน เมื่อ พ.ศ. 1826, และเวียงกุมกาม ซึ่งบัดนี้อยู่คาบอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1829[1] เมื่อสร้างเมืองใหม่แต่ละครั้ง พญามังรายจะประทับอยู่ที่เมืองนั้น ๆ เสมอ ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า[4]

“…คงมีพระประสงค์ที่จะสร้างชุมชนขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งเป็นเมืองใหม่ขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ทรงแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงถาวรของพระองค์ต่อไป”

นอกจากนี้ ยังทรงตีได้เมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำ จึงมีหัวเมืองหลายแห่งมาขออ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เช่น เมืองร้าง ต่อมาจึงเสด็จไปเอาเมืองเชียงของได้ใน พ.ศ. 1812 และเมืองเซริงใน พ.ศ. 1818[4]

การได้เมืองหริภุญไชย

พญามังรายมีพระราชประสงค์จะได้เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) เพราะเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีทางน้ำติดต่อถึงเมืองละโว้และเมืองอโยธยาด้วย[4] ทรงพระดำริแล้วก็ทรงให้ข้าราชการคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า ปลอมปนเข้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย[4] ขณะนั้น เมืองหริภุญไชยมีพญาญี่บาเป็นพระมหากษัตริย์[4] อ้ายฟ้าจึงทำให้ชาวหริภุญไชยไม่พอใจพญาญี่บา โดยเกณฑ์ไปขุดเหมืองในฤดูร้อนเพื่อถ่ายแม่น้ำปิงมาสู่แม่น้ำกวงเป็นระยะทางสามสิบหกกิโลเมตร[4] ปัจจุบัน เหมืองดังกล่าวก็ยังมีและยังใช้ได้ดีอยู่ด้วย[4]

อ้ายฟ้าดำเนินแผนต่ออีกโดยตัดไม้ซุงลากผ่านที่นาของชาวบ้านในหน้านา ทำให้ข้าวเสียหายเป็นอันมาก โดยอ้ายฟ้าแจ้งประชาชนว่า พญาญี่บาจะทรงสร้างพระราชวังใหม่[4] อ้ายฟ้าบ่อนทำลายเมืองหริภุญไชยอยู่นานเกือบเจ็ดปี[4] ชาวหริภุญไชยจึงเอาใจออกหากพญาญี่บาเต็มที่ เมื่อพญามังรายทรงกรีธาทัพมายึดเมือง ชาวเมืองก็ให้ความร่วมมือแก่พระองค์เป็นอย่างดี พระองค์ทรงได้เมืองไปโดยง่ายเมื่อ พ.ศ. 1824[4] แต่ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าเป็น พ.ศ. 1835 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประเสริฐ ณ นคร[4]

การสถาปนาอาณาจักรล้านนา

 

เมื่อพญามังรายทรงได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ขุนคราม พระราชบุตรพระองค์ที่สองของพญามังราย ก็ตีนครเขลางค์ (ลำปาง) ได้ใน พ.ศ. 1839[5] ในปีนั้นเอง ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ พระราชทานนามเมืองเชียงใหม่ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” และโปรดให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรใหม่นั้น[1] ในการนี้ นับเป็นการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นโดยปริยาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ขนานชื่อตามพระนามพระองค์ว่า ราชวงศ์มังราย และพญามังรายก็ทรงชื่อว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์และอาณาจักรทั้งสองด้วย[1]

อาณาเขตของล้านนาในรัชกาลพญามังรายนั้น ทางเหนือถึงเชียงรุ่งและเชียงตุง, ตะวันออกถึงน้ำโขง แต่ไม่รวมเมืองพะเยา เมืองน่าน และเมืองแพร่, ทิศใต้ถึงนครเขลางค์, และตะวันตกถึงอาณาจักรพุกาม (พม่าและมอญ)[6]

การได้อาณาจักรพุกาม

พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ว่า ใน พ.ศ. 1833 อาณาจักรพุกามขอเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ พญามังรายจึงเสด็จไปเยือนพุกาม และเมื่อนิวัติ ก็ทรงนำช่างฆ้อง ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างฝีมืออื่น ๆ กลับมาด้วย แล้วก็โปรดให้ช่างทองไปประจำที่เมืองเชียงตุง[5]

แต่เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์[5] นอกจากนี้ ประเสริฐ ณ นคร แสดงความเห็นว่า ถ้าเกิดขึ้นจริง ควรเป็น พ.ศ. 1843 มากกว่า 1833 เพราะมอญอยู่ในอาณัติของอาณาจักรสุโขทัยภายใต้การปกครองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 มอญจะแยกตัวไปหานายใหม่ได้ก็ควรหลัง พ.ศ. 1841[5]

นอกจากนี้ บันทึกของจีนและไทลื้อระบุว่า พญามังรายทรงเคยยกรี้พลไปตีเมืองเชียงรุ่งและอาณาจักรพุกามบางส่วนใน พ.ศ. 1840 และสิบสองพันนาใน พ.ศ. 1844 กับทั้งว่า จีนเคยยกลงมาตีอาณาจักรล้านนาแต่พ่ายกลับไปด้วย[7]
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญางำเมือง และพญามังราย ตามลำดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

พญามังรายทรงมีสัมพันธไมตรีกับพญางำเมือง พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย โดยเป็นศิษย์สำนักเดียวกันที่เมืองละโว้[8] ทั้งสามพระองค์เป็นพระสหายร่วมสาบานกันด้วย[8]

เมื่อพญามังรายจะทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาที่เมืองเชียงใหม่นั้น ก็ได้ทรงปรึกษากับพระสหายทั้งสอง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงแนะนำว่า ควรลดขนาดเมืองลดครึ่งหนึ่ง จากเดิมวางผังให้ยาวด้านละสองพันวา เพราะเมื่อเกิดศึกสงครามในอนาคต ผู้คนที่ไม่มากพอจะไม่อาจปกปักรักษาบ้านเมืองที่กว้างขวางถึงเพียงนั้นได้ และพญามังรายทรงเห็นชอบด้วย[8]

มิตรภาพระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้ ทำให้แต่ละพระองค์ทรงสามารถขยายดินแดนไปได้อย่างไม่ต้องทรงพะวงหน้าพะวงหลัง[8]
เจดีย์กู่คำ วัดเจดีย์เหลี่ยม

การปกครอง

Searchtool.svg ดูเพิ่มที่ วินิจฉัยมังราย

ในการปกครองบ้านเมือง พญามังรายทรงอาศัยประมวลกฎหมายที่เรียก “วินิจฉัยมังราย” หรือ “มังรายศาสตร์” ซึ่งเป็นราชศาสตร์ (พระราชบัญญัติประกอบพระธรรมศาสตร์) อันกลั่นกรองมาจากคำวินิจฉัยที่พระมหากษัตริย์มีไว้ แล้วประมวลเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่[8] ในรัชกาลพญามังราย วินิจฉัยมังรายมีเพียงยี่สิบสองมาตรา ประกอบด้วย เรื่องการหนีศึก ความชอบในสงคราม หน้าที่ของไพร่ในอันที่จะต้องเข้าเวรมาทำงานหลวงสิบวัน กลับบ้านไปทำไรไถ่นาสิบวัน สลับกันไป และเรื่องที่ดิน[8] ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนยาวขึ้นอีกสิบเท่า[8]

วินิจฉัยมังรายฉบับเก่าแก่ที่สุดหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงฉบับเดียว คือ ที่พบ ณ วัดเสาไห้ คัดลอกเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2342 และต่อมา ราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นภาษาปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2514[8]

อนึ่ง พญามังรายทรงให้ช่างก่อเจดีย์กู่คำ ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม[9] พญามังรายยังโปรดให้นายช่างชื่อ การโถม สร้างวัดแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งทรงสร้างพระพุทธมหาปฏิมากรห้าพระองค์ สูงใหญ่เท่าพระวรกายของพระองค์ ตลอดจนมหาวิหารและเจดีย์อื่นอีกเป็นอันมาก[10] นายช่างการโถมปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เขาไปครองเมืองรอย (ต่อมาสถาปนาเป็นเมืองเชียงแสน)[10] และพระราชทานนามวัดนั้นว่า “วัดการโถม” (ปัจจุบัน คือ วัดช้างค้ำ จังหวัดเชียงใหม่)[10]

พระราชวงศ์

พญามังรายมีพระราชบุตรเท่าใดไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏว่า พระราชบุตรพระองค์หัวปี พระนามว่า ขุนเครื่อง นั้น ทรงให้ไปครองเมืองเชียงราย แต่ภายหลังคิดขบถ จึงทรงให้คนไปฆ่าทิ้งเสีย[10]

พระราชบุตรพระองค์ที่สอง คือ ขุนคราม ผู้ตีได้นครเขลางค์ดังกล่าวข้างต้น[10]

พระราชบุตรพระองค์ที่สาม คือ ขุนเครือ โปรดให้กินเมืองพร้าว แต่ต่อมาถูกพระองค์เนรเทศไปเมืองกองใต้ ชาวไทยใหญ่จึงสร้างเมืองใหม่ให้ขุนเครือปกครองแทน[10]
สวรรคต

พญามังรายทรงต้องอสนีบาตถึงแก่พระชนมชีพกลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1854 สิริพระชนม์เจ็ดสิบสามพรรษา[10] และพญาไชยสงครามเสวยราชย์สืบมา

พ้นรัชกาลพญามังรายแล้ว ราชวงศ์มังรายครอบครองอาณาจักรล้านนาเป็นเอกราชอยู่ระยะหนึ่ง โดยเคยขยายอาณาบริเวณมาครอบคลุมเมืองพะเยา น่าน ตาก แพร่ สวรรคโลก และสุโขทัยด้วย กระทั่ง พ.ศ. 2101 ถูกพม่าตีแตก แล้วก็กลายเป็นเมืองขึ้นพม่าบ้าง เป็นอิสระบ้าง และเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง สลับกันไปดังนี้เป็นเวลาสองร้อยปี จนร่วมมือกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขับพม่าออกจากดินแดนได้อย่างสิ้นเชิง และเข้ารวมเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน[10]

 

อ้างอิง

เชิงอรรถ

ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 267.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 276.

“พญาเม็งราย…พระนามที่ถูกต้องว่า พญามังราย ทั้งนี้ ปรากฏตามหลักฐานในศิลาจารึก ตำนาน และเอกสารดั้งเดิมทุกชนิด ยกเว้นพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์เรียบเรียงขึ้น และเอกสารที่อ้างอิงพงศาวดารโยนกในชั้นหลัง ซึ่งใช้พระนาม เม็งราย”

เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ (2555, 24 สิงหาคม). “750 ปี ‘พระญามังราย’ หรือ ‘พ่อขุนเม็งราย’?”. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2555. .
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 268.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 277.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 278.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 277-278.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 269.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 269-270.
ประเสริฐ ณ นคร; 2549, กุมภาพันธ์: 270.
“วธ.เชียงราย เผยเตรียมเอาผิดเพจ “ไลค์ดะ” ตัดต่อรูปพ่อขุน”. ประชาไท. 19 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2555.
“รุมประณามแอดมินเฟซบุ๊ก‘ไลค์ดะ’ แพร่รูปไม่เหมาะสมว่อนเน็ต”. ข่าวสด. 19 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2555.
“วธ. เชียงราย จ่อแจ้งความเอาผิดมือดีตัดต่อ “พ่อขุนฯ””. ผู้จัดการ. 19 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2555.
“คนรักรถเชียงราย รวมตัวเรียกร้องจัดการ “ไลค์ดะ” มือตัดต่อภาพ “พ่อขุนฯ””. ผู้จัดการ. 22 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2555.

บัณรส บัวคลี่ (2556-04-29). “ว่าด้วยปลอดประสพ รับบทพญามังราย”. ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2556-05-14.

บรรณานุกรม

ประเสริฐ ณ นคร. (2549, กุมภาพันธ์). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743236007.

แหล่งข้อมูลอื่น

แหล่งข้อมูลภายใน

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พญามังราย

แหล่งข้อมูลภายนอก

กรมศิลปากร. (2518). ชินกาลมาลีปกรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: บำรุงนุกูลกิจ. ISBN -.
ประเสริฐ ณ นคร. (2514). มังรายศาสตร์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เรียบเรียงเป็นภาษาปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ?. ISBN -.
พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (2507). กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. ISBN -.
เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (2555, 24 สิงหาคม). 750 ปี ‘พระญามังราย’ หรือ ‘พ่อขุนเม็งราย’?. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 9 กันยายน 2555.
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2524). ตำนานสิบห้าราชวงศ์, (เล่มที่ 1). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ISBN -.