พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นามเดิม จันทร์ ฉายา สิริจนฺโท เป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี
อดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และมณฑลกรุงเทพ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ และวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งในฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในภาคอีสาน ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูปรวมถึงพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่าด้วย
ประวัติ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มีนามเดิมว่าจันทร์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2399 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2400) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง เป็นบุตรคนโตของหลวงสุโภร์ประการ (สอน) กรมการจังหวัดอุบลราชธานี[1] กับนางแก้ว เมื่ออายุย่าง 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในเดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2412) ณวัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดาเป็นพระอุปัชฌาย์ ถึงเดือน 4 จึงย้ายไปอยู่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) เพื่อศึกษากับพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี จนอายุย่าง 19 ปี ก็จำเป็นต้องลาสิกขาเพื่อตามไปไถ่ตัวบิดาที่ถูกเกณฑ์ไปปราบทัพฮ่อ
ท่านได้อยู่ช่วยงานมารดาบิดาอยู่ 3 ปี พระอาจารย์ม้าวก็ให้คนมาตามไปบวชอีกครั้ง ท่านยินยอม จึงได้อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2420 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู พระอาจารย์ม้าวเป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วจำพรรษาที่วัดไชยมงคลเพื่อช่วยงานของพระกรรมวาจาจารย์ เฉพาะเวลาเรียนมูลกัจจายน์จึงเดินมาเรียนที่วัดศรีทอง เรียนได้ 2 ปี พระอาจารย์ม้าวอาพาธหนักจนไม่สามารถสอนได้ จึงให้ท่านไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อถึงกรุงเทพฯ พระอาจารย์อ่อนซึ่งเป็นศิษย์พี่ได้นำท่านไปฝากศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระปลัดผา วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อพระอริยมุนี (เอม อายุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ มรณภาพ พระปลัดผาได้พาท่านไปฝากตัวศิษย์ของพระมหาอ่อน อหึสโก วัดบุปผาราม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะบวชได้ 9 พรรษา ท่านตั้งใจว่าตั้งแต่พรรษา 10 เป็นต้นไปจะมุ่งด้านวิปัสสนาธุระแทน ในพรรษาที่ 10 นั้น ท่านจึงกลับไปอยู่วัดศรีทองเพื่อปรนนิบัติและฝึกปฏิบัติธรรมกับพระอาจาร์ม้าวต่อ
พ.ศ. 2431 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) และเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) ร่วมกันสร้างวัดมหามาตยารามขึ้นที่นครจำปาศักดิ์ขึ้นถวายคณะสงฆ์ธรรมยุต พระอาจารย์ม้าวจึงมอบหมายให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 แล้วกลับไปปกครองคณะสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์
ได้ออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์เมื่อเดือน 3 พ.ศ.2432 ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือนจึงถึงกรุงเทพฯ พักจำพรรษาอยู่วัดพิชยญาติการาม กับเจ้าคุณสาสนโสภณ (อ่อน) ผู้เป็นอาจารย์ เวลานั้นยังเป็นพระเมธาธรรมรส เป็นพรรษาที่ 14
ครั้นถึง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ตาลปัตรแฉกทองแผ่ลวดมีนิตยภัตร 8 บาท ถึงเดือน 6 พ.ศ. 2434 กลับออกไปเมืองนครจำปาศักดิ์ เดินทาง 3 เดือนถึงนครจำปาศักดิ์ในเดือน 8 จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์ เป็นพรรษาที่ 15
พรรษาที่ 16 ก็จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์
พรรษาที่ 17 เมื่อไทยเสียดินแดนแถบจำปาศักดิ์ให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436 ท่านจึงได้ทูลลา กลับมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏน์ เมืองอุบล
เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทำให้สยามเสียดินแดนลาวแก่สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ท่านพ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะเมืองจำปาศักดิ์ จึงย้ายมาอยู่วัดวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ต่อมาท่านได้นำคณะศิษย์มาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร อยู่ได้ 1 พรรษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมอบหมายให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทร์เพื่อช่วยงานหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร และมีรับสั่งให้ท่านเข้าสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2437 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค แล้วได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกไปจัดการศึกษาภาษาไทยและอักษรไทยที่เมืองอุบลราชธานี
พรรษาที่ 18 พ.ศ. 2437 เข้ามาจำพรรษาที่วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ ทรงตั้งให้ท่านเป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย ออกพรรษาแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นผู้ช่วย หม่อมเจ้า พระศรีสุคตขัติยานุวัตร ผู้เป็นเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสเป็นสมภารพรรษายังไม่ถึง 10 รับนิสัยพระสงฆ์ยังไม่ได้ ให้ท่านไปเป็นผู้รับนิสัยพระสงฆ์ และเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนภาคมคธด้วย
ในแล้งนี้มีกำหนดการแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวงด้วย (สมัยนั้นไม่ได้มีการสอบทุกปี) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ รับสั่งให้ท่านเข้าแปลประโยค 4 ด้วย ท่านได้เป็นเปรียญ 4 ประโยคในการสอบครั้งนี้
ในพรรษาที่ 19 พ.ศ.2438 นี้ท่านได้ช่วยหม่อมเจ้าพระศรีสุคตฯ อยู่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ท่านเห็นว่า ร่างกายไม่มีกำลังพอที่จะทำงาน ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไปคงเกิดโรคภัยเบียดเบียน ไม่มีทางจะออกตัวอย่างไรได้ เห็นแต่ทางสึกเป็นดีกว่าอย่างอื่น จึงได้ทูลลาสึก
ในเดือน 12 ปีนั้น ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (สิง) วัดปทุมวนาราม จนถึงเดือนอ้าย ท่านออกไปเจริญวิปัสสนาอยู่ที่เขาคอก ในระหว่างเดือนอ้ายนั้นก็ได้ตรึกตรองถึงชีวิตในภายหน้า จนกระทั่งตัดสินใจได้ว่ายอมถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัยอยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต จึงได้มีลิขิตเข้ามาถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรถึงการตัดสินใจของท่าน ว่าตัดสินใจถวายพรหมจรรย์แก่พระศาสนาแล้ว ด้วยพระองค์ท่านคอยฟังข่าวอยู่ เนื่องจากได้ทูลไว้เมื่อตอนสึกว่า จะออกไปหาที่วิเวกตรึกตรองก่อน พระองค์ทรงพระเมตตาท่านมาก คอยจะทรงอุปการะอยู่
ครั้นตัดสินใจได้แล้วก็เดินรุกขมูลต่อไป ได้ออกไปเที่ยวอยู่ในแขวงเมืองนครราชสีมาตลอดแล้ง จนถึง เดือน 6 พ.ศ. 2439 ได้กลับเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม เป็นปีพรรษาที่ 20
อยู่ที่ วัดพิชัยญาติการาม 1 พรรษา แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ต่อจากนี้ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงโปรดให้ไปจัดการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีได้ 2 ปีเศษ
ถึงปีกุน พ.ศ.2442 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต แล้วโปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน จึงกลับไปอยู่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี 5 พรรษา ภายหลังขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเทพศิรินทร์บ้าง ไปธุดงค์บ้าง จนถึงปีมะโรง พ.ศ.2447 จึงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดบรมนิวาส ถึงปีระกา พ.ศ.2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระราชกวี
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานอาราธนาบัตร์สถาปนาเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ต่อมาถึง พ.ศ.2458 ได้แต่งหนังสือ เทศน์ เห็นเป็นอันไม่ต้องด้วยรัฐประศาสนโยบายบางประการ อันเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร จึงถูกถอดจากสมณศักดิ์ คราวหนึ่ง
ครั้นถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กลับตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี มีสมณศักดิ์เสมอชั้นเทพ และโปรดให้ครองวัดบรมนิวาสตามเดิม
ถึงปี พ.ศ.2466 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เสมอตำแหน่งชั้นธรรม
ครั้นถึง พ.ศ.2468 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์”
ได้เคยรับราชการทางคณะสงฆ์ ในหน้าที่สำคัญๆ หลายตำแหน่งคือ เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และ มณฑลกรุงเทพฯ
ท่านเป็นพระนักปกครองผู้มีอัธยาศัยงดงาม ให้ความคุ้มครอง และให้ความดีความชอบแก่ผู้น้อย เป็นผู้มีใจกันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ท่านแสดงธรรมสั่งสอนให้เขาเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาด ชี้ให้เห็นเหตุผล แจ่มแจ้งในกว้างเฉลี่ยลาภผล เกื้อกูลแก่สพรหมจารี ไปอยู่ที่ไหน ก็ยังคุณความดี ให้เกิดแก่หมู่ เป็นคณโสภณผู้ทำหมู่ให้งาม เป็นผู้ฉลาดในเชิงช่าง
นอกจากนี้ ท่านยังใส่ใจในการศึกษาของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และ กุลบุตรกุลธิดามาก ทั้งภาษาบาลีและไทย เมตตาสั่งสอนให้ได้รู้หนังสือ ท่านมีความ สามารถในการอธิบายอรรถธรรม ให้เข้าใจง่าย และชักชวนให้อาจหาญร่าเริง ในสัมมาปฏิบัติ จัดเป็นธรรมกถึกเอก มีเชาวนะปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลม วิจารณ์อรรถธรรมอันลุ่มลึก ให้แจ่มแจ้ง ท่านแต่งหนังสือไว้ทั้ง คำร้อยแก้วทั้งคำกาพย์
เมื่ออยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดมหาอำมาตย์ (วัดนี้พระยามหาอำมาตย์หรุ่น กับ เจ้านครจำปาศักดิ์ สร้าง) ให้ชื่อว่า “โรงเรียนบุรพาสยามเขตร” สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย และยังได้จัดตั้ง “โรงเรียนอุบลวิทยาคม” ขึ้นที่ วัดสุปัฏน์ เช่นกัน ครั้นได้ดำรง ตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑล ก็จัดการการศึกษาทั่วไป จนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้จัดการศึกษา ของกุลบุตรให้เจริญ ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ถึงวัดสิริจันทรนิมิตร ที่เขาบ่องาม (เขาพระงามในปัจจุบัน) จังหวัดลพบุรีและวัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ ก็ได้จัดการศึกษาของกุลบุตรให้รุ่งเรืองขึ้นโดยควรแก่ฐานะ
แม้ในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านก็ได้สร้างคุณประโยชน์อันมากมาย เช่น การปฏิสังขรณ์ วัดบวรมงคล คือ พระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนวิหารคด การปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส คือ
พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
พระอุโบสถแล พระอสีติมหาสาวก วิหารคด และ พระพิชิตมาร ซึ่งเป็นพระประธานในศาลาอุรุพงษ์ คือ เป็นพระลีลาเก่า อัญเชิญมาจาก จังหวัดราชบุรี และได้ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เช่น โรงเรียนภาษาบาลี และ ภาษาไทย สระน้ำ ศาลาอุรุพงษ์ ส่วนของระฆัง และหอระฆัง มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริวัฒน์เป็นผู้ร่วมสร้าง ตลอดจนกุฏิสร้างใหม่ให้เป็นตึก หอเขียว ซึ่งเป็นกุฏิใหญ่ในวัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงเมาลี หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า หม่อมเจ้าหญิงโอฐอ่อน หม่อมเจ้าหญิงคำขาว และ หม่อมเจ้าหญิงรับแข สกุลปราโมช ทรงร่วมกันสร้างด้วยความสามัคคีธรรมแห่ง คณะญาติ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ประเดิมสร้างวัดเสน่หานุกูล จังหวัดนครปฐม และที่วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรีนั้น ท่านได้สร้างพระพุทธปฏิมากร อันมีนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11 วา 1 ศอก สูงทั้งรัศมี 18 วา อีกทั้ง พระอุโบสถ พระประธาน และ พระกัจจายน์ วิหาร ตลอดถึงถ้ำและกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ ท่านเป็นผู้นำในการสร้างมณฑปวัดบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี
ท่านเป็นผู้ยินดีในสัมมาปฏิบัติ สันโดษมักน้อยใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ประกอบด้วยธุดงควัตรเที่ยวรุกขมูล รักษาขนบธรรมเนียม ของสมณะที่ดีไว้มั่นคง มีสติสัมปชัญญคุณทุกเมื่อ มีความเยือกเย็นอาจหาญอดกลั้นทนทานต่อสถานการณ์ต่างๆ แม้ในยามอาพาธ สุดท้าย พิษของโรครุนแรงด้วยทุกขเวทนายิ่งนัก ท่านยังได้ให้โอวาทแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนว่า “เราเป็นนักรบ ได้ฝึกหัดวิธีรบไว้ก็ไม่เสียที ได้ผจญต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมจริงๆ ก็อาจหาญอดกลั้นทนทานไม่สะทกสะท้าน มีสติสัมปชัญญคุณรอบคอบไม่หลงใหลไม่ฟั่นเฟือน ไม่กระวนกระวาย หากถึงกาลแตกดับ ก็ไปด้วยความสงบเงียบหายดุจหลับไป” จึงได้ชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติได้ผลโดยควรแก่ภาวะโดยแท้
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 สิริอายุได้ 75 ปี 121 วัน ได้รับพระราชทานไตรแพรครอง 1 ไตร โกศโถและชั้นรอง 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คันประกอบศพเป็นเกียรติยศ ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศกนั้น ณ วัดบรมนิวาส
ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. 2433 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี[6]
พ.ศ. 2442 เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณรักขิต[7]
พ.ศ. 2452 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระราชกระวี นรสีหพจนปิลันทน์[8]
พ.ศ. 2457 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[9]
พ.ศ. 2458 ถูกถอดจากสมณศักดิ์[10]
พ.ศ. 2459 กลับเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระธรรมธีระราชมหามุนี[11]
พ.ศ. 2466 เป็นเสมอพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระโพธิวงศาจารย์ ญาณวิสุทธิ์จริยาปรินายก ตรีปิฎกธรรมสุนทร ยติคณิศร บวรศีลาทิขันธ์ อรัญวาสี[12]
พ.ศ. 2468 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี (เสมอชั้นธรรมพิเศษ) ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[13]
ธรรมโอวาท
ท่านได้กล่าวไว้มากมาย ขอคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ คือ
ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตา นึกจะดูอะไรก็ดูได้เรามีหู นึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูก อยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปาก มีลิ้น นึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากเดินไปไหนก็ไปได้ เรามีจิตมีใจ นึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไร ก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่า เป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือ ใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัสยินดี ยินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมา เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษ จงปล่อยผ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ ให้ผ่องใส สมกับที่ว่า เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัด บ่อยๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาท ที่ทรงสั่งสอนว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
ถ้าว่าโดยสมมติ สกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรมะ ความประพฤติให้คุณความดี มีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่า ผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้
ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น อย่าเป็นคนสงสัย ลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอน นอกรีตนอกทาง อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา เพราะพระนิพพานของ พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรค เป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้เป็นอวิชชาทั้งนั้น
พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า ทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน
ปัจฉิมบท
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจนฺโท (จันทร์) เปรียญ 4 ประโยค เจ้าอาวาส วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร อาพาธเนื่องด้วยโรคชรา ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คำนวณอายุได้ 77 ปี พรรษา 55 ได้พระราชทานโกศโถ มีชั้นรองสองชั้น ฉัตรเบญจา 4 ประกอบศพเป็นเกียรติยศ