วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
7817

วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดชัยมงคล แต่เดิมเป็นวัดมอญมีชื่อว่า วัดมะเล่อ หรือ มะเลิ่ง ซึ่งมีความหมายว่า รุ่งแจ้ง หรือ รุ่งอรุณ ในภายหลังได้มีการเรียกชื่อกันใหม่ว่า วัดอุปาเพ็ง หรือ วัดอุปาพอก

ที่ตั้ง : วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัย “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์เชียงใหม่ เดิมเป็นวัดมอญ (เม็ง) ได้รับพระราชทานพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘

ประวัติวัดชัยมงคล
จากเอกสารประวัติวัดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัย “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์เชียงใหม่ เดิมเป็นวัดมอญ (เม็ง) ชื่อวัดมะเล่อ หรือ มะเลิ่ง (แปลว่า รุ่งแจ้ง หรือ รุ่งอรุณ) ช่วงที่พม่าปกครองเชียงใหม่วัดแห่งนี้ถูกเรียกว่า วัดอุปาเพ็ง หรือ วัดอุปานอก เพราะถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดบุพพาราม (วัดอุปาใน) ถนนท่าแพ ต่อมาพระราชชายาดารารัศมีได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดชัยมงคล (ริมปิง)

เดิมเนื้อที่ของวัดชัยมงคลเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยยาวไปในแนวเหนือใต้ พื้นที่ติดแม่น้ำปิงไม่มีพื้นที่ติดถนนเจริญประเทศ ส่วนกงสุลฝรั่งเศสที่อยู่ติดกันก็ไม่มีพื้นที่ติดแม่น้ำปิง สมัยที่ครูบาดวงแก้ว คันธิยะ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเห็นว่าต่อไปคนจะมาทำบุญจะหาทางเข้าวัดลำบาก ครูบาดวงแก้วจึงเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อขอแลกที่ดิน ด้านทิศเหนือแลกกับทิศตะวันตกเพื่อให้ที่ดินของวัดและกงสุลเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งจะทำให้พื้นที่วัดติดถนนเจริญประเทศ และพื้นที่ของกงสุลฝรั่งเศสติดแม่น้ำปิง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตกลงตามข้อเสนอ ครูบาดวงแก้วจึงได้ดำเนินการย้ายเจดีย์หลังเก่าซึ่งติดกับรั้วของกงสุลฝรั่งเศส มาสร้างใหม่เป็นทรงมอญในที่ดินใหม่

อุโบสถหลังเดิมของวัดตั้งอยู่ในลำน้ำริมปิงติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พอถึงฤดูน้ำหลากมีซุงไหลมาชนโบสถ์เสียทำให้สังฆกรรมไม่ได้ ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ “ครูบาดวงแก้ว” จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และปลูกสีมาฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๙ จึงทำให้อุโบสถซ้อนวิหารเป็นหลังเดียวกันในปัจจุบันนี้

ภายในวัดมีพระพุทธชัยมงคล รูปปางมารวิชัยก่ออิฐหรือลงรักปิดทอง เป็นพระประธานภายในวิหาร ซึ่งจำลองแบบมาจากฝาผนังหลังด้านพระประธาน มีธรรมมาสน์ไม้สักแกะสลักรูปนาค ๗ เศียร สร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีพระพุทธรูปไม้สักปางเปิดโลกมีอายุประมาณ ๕๐๐ ปีซึ่งได้มาจากวัดกิตติ

ในอดีตเล่ากันว่า ขบวนเรือหางแมงป่องที่จะเดินทางไปซื้อขายสินค้าที่กรุงเทพฯ มักจะแวะมาขอพรที่วัดนี้ก่อนล่องเรือไปค้าขายเสมอ เพราะถือกันว่าจะมีชัย มีโชคลาภ และมีความปลอดภัยกลับมาตามชื่อวัด

ปัจจุบันวัดชัยมงคลเป็นวัดที่ผู้คนมาร่วมทำบุญกุศลมากเป็นอันดับต้นๆของวัดในเมืองเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการปรับปรุงทัศนียภาพภายในวัดที่สงบ สวยงาม ร่มรื่น เหมาะแก่การเข้ามาร่วมทำบุญสร้างกุศล นอกจากนี้ยังมีสิ่งจูงใจอื่นๆ อีกหลายประการที่ทำให้ผู้คนเดินทางมาทำบุญที่วัดชัยมงคลอย่างต่อเนื่อง

พระครูสุจิตรัตนาทร เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล เล่าเกี่ยวกับการพัฒนาวัดชัยมงคลว่าเดิมเป็นชาวอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ บวชอยู่วัดท่าตอน ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๗ มาจำพรรษาที่วัดชัยมงคลเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล

“จากวัดท่าตอนอาตมามาจำพรรษาที่วัดสำเภา ต่อมาเจ้าอาวาสวัดสำเภาบอกว่าอยากมาอยู่วัดชัยมงคลมั้ย พระมีน้อย อาตมาก็ตกลงมาอยู่ ช่วงที่อาตมามาจำพรรษาวัดชัยมงคลนั้น เจ้าอาวาสคือ อาจารย์สวาท ต่อมาสึก เจ้าอาวาสต่อมาชื่อ อาจารย์ประหยัด ต่อมาสึกเช่นกัน

“หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสก็ได้พัฒนาวัดหลายอย่าง สิ่งแรกคือ การต้อนรับศรัทธาที่เข้ามาทำบุญที่วัด อาตมาได้ความรู้จากหลวงพ่อวัดท่าตอน(พระราชปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดท่าตอน อำเภอแม่อาย)ที่อาตมาบวชอยู่ด้วย ได้แนวทางการปฏิบัติด้านกิจสงฆ์และด้านการพัฒนาวัด สิ่งแรก คือ ต้องดึงศรัทธาให้เข้ามาทำบุญ เดิมมีศรัทธาอยู่แล้วเข้าวัดมาทำบุญต้องได้บุญกลับไป
“ต้องไม่ปฏิเสธ ทางวัดทำได้ทุกอย่างเพราะศรัทธาทำมาหากินมีทุกข์ เข้าวัดเพื่อให้คลายทุกข์ เราเป็นพระต้องช่วยเหลือ ต้องจัดพระเวรประจำในพระวิหารอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะให้ศีลให้พร วัสดุอุปกรณ์ต้องเตรียมไว้เช่น พาน อุปกรณ์กรวดน้ำ กระดาษ ปากกา ซอง มีไว้บริการผู้ที่มาทำบุญ จะมาถวายอาหารส่งให้ญาติพี่น้องที่เสียชีวิต จะมาถวายสังฆทาน ให้ประพรมน้ำมนต์หรือจะมาให้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เราปฏิเสธไม่ได้ จะจัดให้หมด และที่สำคัญคือ ต้องไม่เรียกร้องเงินทำบุญ จะถวายเข้าวัดเท่าไหร่ก็ได้ หากเห็นว่าถวายมากไปก็ต้องสอบถามว่าโยมทำบุญเยอะ ลำบากใจหรือเปล่า ทำน้อยลงก็ได้นะ หลักการนี้บอกพระเณรในวัดทุกองค์ทุกรูปให้ปฏิบัติเหมือนกัน

“ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ อาตมาเองเป็นเจ้าอาวาสต้องรอพบศรัทธาที่มาทำบุญ ต้องไม่พบยาก เคยได้ยินมาก่อนว่าบางวัดพบเจ้าอาวาสยาก อาตมาปรับเปลี่ยนตัวเองให้พบง่าย หากไม่ติดกิจนิมนต์ก็อยู่วัด คอยให้ศีลให้พรผู้เข้าวัดทำบุญให้คลายทุกข์

ด้านการพัฒนาวัด พระครูสุจิตรัตนาทร กล่าวถึงการพัฒนาวัดชัยมงคลว่า
“อาตมาจำหลักการทำงาน หลักการพัฒนาวัดมาจากหลวงพ่อวัดท่าตอน ซึ่งท่านพัฒนาทั้งวัดจนสวยงามและพัฒนาคน คือ ส่งพระเณรเรียนหนังสือจนมีความรู้สูง จำได้ว่าสิ่งแรกที่ทำ คือ ปูพรมในวิหาร เคยมีคนบ่นว่าไปวัดแล้วไม่รู้จะไปนั่งที่ไหน ในวิหารก็ไม่น่านั่ง เพราะสกปรก อาตมาจึงสั่งพรมมาปูในวิหารให้คนมาทำบุญได้นั่งสบาย บางคนมานั่งสมาธิก็มีทุกวัน ขับรถเข้ามาในวัดบอกว่าทำงานแล้วเครียด ขอนั่งสมาธิในวิหาร ในวิหารอาตมาเปิดธรรมะให้ฟังด้วย

“นอกจากนี้ก็พัฒนาห้องน้ำให้สะอาด เป็นสิ่งสำคัญเพราะศรัทธามาทำบุญหากห้องน้ำไม่สะอาดก็เสียชื่อและเสียความรู้สึก หลังจากนั้นปรับภูมิทัศน์ทั่วไปทั้งพื้นดินในบริเวณวัดและจัดสวนหย่อม ต่อมาได้ปรับปรุงวิหารให้สวยงามยิ่งขึ้น

“หากเข้าวัดชัยมงคลสามารถเข้าวิหารกราบพระประธาน นั่งสมาธิ หรือกราบขอพรจากเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่กวนอิม เจ้าอาวาสองค์ก่อนทำไว้แล้ว แต่ด้านหน้าทำเต็นท์ไม่ถาวร คราวหนึ่งคุณประสงค์ ร้านนพรัตน์การยางมากราบเจ้าแม่กวนอิม อยากปรับปรุงให้ อาตมาเขียนแบบไว้แล้วมอบให้ดู เขาเกิดศรัทธาจัดทำหลังคาและปรับปรุงพื้นจนสวยงามดังปัจจุบัน ใช้งบประมาณ ๗ แสนบาท นอกจากนั้นได้สร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น ค่าก่อสร้าง ๕ ล้านบาทเศษ ส่วนหนึ่งที่ร่วมทำบุญ คือ แม่ประพิณ ลิ้มจรูญ เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ เข้ามาที่วัดเห็นกำลังสร้างกุฏิสงฆ์ก็มาร่วมทำบุญด้วย ๒ ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ก็มีศรัทธาอื่นๆ ช่วยจนการก่อสร้างสำเร็จ

“นอกจากนี้เข้าวัดชัยมงคลก็สามารถมากราบขอพรจากเสด็จพ่อ ร.๕ ที่สร้างไว้ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัด หรือจะปล่อยปลาที่ท่าน้ำก็ได้บุญกุศลแรง”

พระครูสุจิตรัตนาทร เล่าว่าระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถึงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้พัฒนาวัดชัยมงคลใช้เงินแล้วประมาณ ๔๖ ล้านบาท ปัจจุบันมีพระ ๖ รูป เณร ๙ องค์ ส่วนที่สำคัญที่เรียนรู้มาจากเจ้าอาวาสวัดท่าตอน คือ การทำกิจสงฆ์ให้ครบบริบูรณ์ โดยเฉพาะการทำวัตรเช้าวัตรเย็น รวมทั้งการส่งให้พระเณรได้เรียนหนังสือเพิ่มความรู้เพื่อมุ่งให้พัฒนาสืบสานศาสนาในอนาคตกาลต่อไป

ผ่านย่านถนนเจริญประเทศ ลองแวะเข้าวัดชัยมงคล จะพบว่าเป็นสถานที่หนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการสะสมบุญกุศลตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาของเรา

ถัดจากวัดชัยมงคลไปทางทิศใต้ มีบ้านหลังหนึ่ง มีชื่อว่า บ้านทับพญา เจ้าของบ้านร่วมกันสร้างตำนานรักแท้ของสาวงามเชื้อสายเจ้าเมืองลำพูนกับหนุ่มสังคมชาวกรุงเทพฯ

เป็นตำนานรักแท้เพื่อทิ้งเรื่องราวในอดีตหลายต่อหลายเรื่องที่เกี่ยวกับหญิงสาวชาวเหนือถูกหนุ่มกรุงเทพฯ หลอกลวงให้หลงรักและทิ้งขว้างอย่างไม่ใยดีคราวเมื่อสมหวัง

ย้อนไปเมื่อ ๕๗ ปี ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๗ บริเวณสถานีรถไฟเมืองลำพูน ชาวจังหวัดลำพูนต่างตื่นเต้นดีใจที่ได้มาต้อนรับและชมความงามของสาวงามแห่งเมืองลำพูนที่เดินทางกลับสู่เมืองลำพูนพร้อมตำแหน่งรองนางสาวไทยจากกรุงเทพฯ ผู้นั้นคือ คุณนวลสวาท ลังการ์พินธุ์

เป็นประวัติศาสตร์ที่สวยงามคราวหนึ่งของจังหวัดลำพูน.

พ.ต.อ.อนุ เนินหาด ผกก.จร.เชียงใหม่

(ข้อมูลเพิ่มเติมแจ้งได้ที่ [email protected])

วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ วัดชัยมงคล

ที่มา
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์เชียงใหม่
ลิงค์บทความ
http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=293

เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล

พระครูสุจิตรัตนาทร สุจิตโต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล ประวัติด้านการศึกษาของพระครูสุจิตรัตนาทร สุจิตโต พระครูสุจิตรัตนาทร สุจิตโต เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลจบการศึกษาศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6)

ลำดับเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล
อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล มีดังนี้ คือ

๑.ครูบาดวงแก้ว คันธิยะ มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑

๒.พระกมล(แก้ว) โกวิโท

๓.พระครูสิทธิวรคุณ(จันแก้ว)

๔.พระอนันต์(บุญมา) สุวรรณฑัต

๕.พระอธิการคำมูล ปัญญาวโร

๖.พระอธิการคำปัน กตปุญโญ

๗.พระอธิการบุญศรี ปภัสสโร

๘.พระอธิการอินจันทร์ ขันติพโล

๙.พระสมุห์ ปภังกโร

๑๐.พระสวาท ฐิตธัมโม

๑๑.พระอธิการประหยัด พรหมปัญโญ

๑๒.พระครูสุจิตรัตนาทร พ.ศ.๒๕๔๓-ปัจจุบัน

แผนที่วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่


วัดใกล้เคียงวัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดศรีดอนไชย ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดอุปคุต ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดช่างฆ้อง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่