ดอยจอมทอง มีสัณฐานเป็นภูเขาดินสูงจากระดับพื้นที่ราบอื่นยอดดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” เจ้าผู้ครองเมืองนั้นชื่อว่า พระยาอังครัฏฐะ พระยาอังครัฏฐะ ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้“ เวลานี้ประทับอยู่เมืองราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย จึงอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้วจึงเสด็จมาสู่เมืองอังครัฏฐะ ทรงแสดงธรรมและทรงพยากรณ์ ไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานแล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวาของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทอง แห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ ส่วนพระยาอังครัฏฐะทรงสดับพระดำรัสที่ตรัสพยากรณ์นั้นแล้ว ได้ทรงรับสั่งให้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทองด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ กาลล่วงมาถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย พระองค์ได้เสด็จสู่ดอยจอมทอง ได้ขุดคูหูเปิดอุโมงคใต้พื้นดอยจอมทองแล้วทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปไว้ภายในคหูนนี้ ทรงอัญเชิญพระบรมธาตุที่อยู่ในสถูปที่พระยาอังครัฏฐะรับสั่งให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปประดิษฐานในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำาคูหาไว้ ทรงอธิษฐานไว้ว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ฝูงชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา”
สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด
- พ.ศ. ๑๙๙๕ พ่อสร้อย แม่เม็ง สองสามีภรรยา บ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทอง จึงได้เริ่ม สร้างเป็นวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้นแล้วให้ชื่อว่า วัดศรีจอมทอง การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี พ่อสร้อย แม่เม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาเมื่อ
- พ.ศ. ๒๐๐๙ มีชาย ๒ คน ชื่อสิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจอมทองและก่อสร้างวิหารมุงหญ้าคาขึ้นหนึ่งหลังจนเสร็จ แล้วได้อาราธนาพระสารีปุตตเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
ค้นพบพระบรมธาตุ
- พ.ศ. ๒๐๔๒ ในสมัยที่พระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาส มีตาปะขาวคนหนึ่งเกิดนิมิตฝันว่าเทวดามาบอกว่าที่ใต้พื้นวิหารบนยอดดอย ที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าและพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันให้เจ้าอาวาสฟัง ท่านจึงได้ทำการอธิษฐานว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้นขอให้พระบรมธาตุจงเสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิษฐานแล้วในวันรุ่งขึ้น ได้พบพระบรมธาตุอยู่ในช่องใจกลางพระเกศโมลีของพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่ภายในวิหารนั้นจึงได้เก็บรักษากันไว้ โดยเงียบๆ สืบมา
- พ.ศ. ๒๐๕๘ สมัยที่พระมหาสีลปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้มีพระมหาพุทธญาโณเถระ ได้นำตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ มาจากเมืองพุกามจึงได้สั่งให้พระอานันทะ ผู้เป็นศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง จึงได้ทำการสักการบูชาอธิษฐานอยู่ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญเมื่อได้เห็นอาการดังนั้น จึงได้นำเอาพระบรมธาตุที่ได้เก็บรักษากันต่อๆกันออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปแจ้งแก่พระมหาพุทธญาโณ ผู้เป็นอาจารย์ ฝ่ายพระมหาพุทธญาโณ เมื่อได้ทราบดังนั้น จึงได้นำความไปทูลพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ
- พ.ศ. ๒๐๖๐ พระเมืองแก้ว จึงอาราธนาให้พระมหาพุทธญาโณ เป็นหัวหน้าไปสร้างวิหารจตุรมุข และก่อปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าประดิษฐานไว้ภายในปราสาทนั้น พระบรมธาตุจึงได้รับการเก็บรักษาไว้โดยวิธีนี้ ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงกาลปัจจุบันนี้
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไปทางทิศใต้ประมาณ 58 กิโลเมตร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีา เมื่อ พ.ศ. 2470 ต่อมา ได้รับพระราชทานยกขึ้น เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2506
ตามตำนาน
พระบรมธาตุศรีจอมทองกล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นมเมื่อ พ.ศ. 1995 โดยมีสามีภรรยาาคู่หนึ่ง ชื่อ นาสร้อย กับนาเม็ง ทั้งสองเป็นผู้มีจิตศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งและได้ค้นพบพระบรมธาตุ ที่มีลักษณะเป็นพระทักขิณโมลีธาตุ คือ พระบรมธาตุพระเศียรเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และได้สร้างวัดขึ้นบริเวณยอดดอยจอมทอง ต่อมา พ.ศ. 2009 มีคหบดี 2 คน ชื่อนายสิบและนายสิบถัว ได้สร้าง เจดีย์และวิหารขึ้น และได้นิมนต์พระสารีบุตรเถระ มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บริเวรที่ตั้ง บนเนินดินสูง ประมาณ ๑๐ เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. ๑๙๙๔ สร้างบนดอยจอมทอง ชื่อว่า วัดพระธาตุศรีจอมทอง ทางทิศตะวันตกมีทิวเขาอินทนนท์ และลำน้ำแม่กลาง
พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้น เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น ของ กรมการศาสนา
ในพระวิหารหลวงของวัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักขิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวล ดุจสีดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๘ จนถึงปัจจุบัน
พระบรมธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ ๕ ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง ๔ เมตร สูง ๘ เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระษาดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๐
สำหรับพระธาตุศรีจอมทองนั้น ถือว่ามีความพิเศษ คือ เป็นพระบรมธาตุเพียงแห่งเดียวที่สามารถสักการะและสรงน้ำได้โดยตรง และเห็นองค์พระบรมสารีริกธาตุได้ เพราะแม้จะมีเจดีย์ (พระธาตุ) อยู่ในวัด แต่องค์พระบรมธาตุแปลกกว่าที่อื่นๆ มาก เพราะมิได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ แต่บรรจุอยู่ในผอบธาตุฯ ออกจากผอบทองคำลงในโกฏแก้ว ที่มีฝาครอบเป็นทองคำ พานรองเป็นเงิน มีสร้อยทองคำโยงลงมาจากฝาครอบทองคำมายังพานเงินทั้ง 4 ด้าน กล่าวคือ พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ภายในกู่ปราสาทปิดทอง ตั้งอยู่ในวิหารจัตุรมุขใกล้เคียงกับเจดีย์ เมื่อถึงวันวิสาขบูชาและวันมาฆบูชาของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาให้คนทั่วไปได้สักการะและสรงน้ำ
วัดนี้ได้รับการดูแลโดยกษัตริย์มาโดยตลอด
ดังเช่นในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 2038-2068) โปรดฯ ให้สร้างพระวิหารจตุรมุขขึ้น โดยมีมณฑปปราสาทตั้งอยู่กลางวิหาร เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในองค์เจดีย์ แต่สำหรับที่นี้พระสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายในพระโกศ และประดิษฐานไว้ในมณฑปปราสาท
ลำดับเจ้าอาวาส วัดพระธาตุศรีจอมทอง (เท่าที่มีบันทึก)
- พระสารีปุตตเถระ พ.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๓
- พระเทพกุลเถระ พ.ศ. ๒๐๑๓-๒๐๑๘
- พระธมฺมปญฺโญเถระ พ.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๔๖
- พระอานนฺโท พ.ศ. ๒๐๔๖-๒๐๔๗
- พระเหมปญฺโญ พ.ศ. ๒๐๔๗-๒๐๔๙
- พระญาณมงคละ พ.ศ. ๒๐๔๙-๒๐๕๐
- พระพุทธเตชะ พ.ศ. ๒๐๕๐-๒๐๕๒
- พระอรญฺญวาสี พ.ศ. ๒๐๕๒-๒๐๕๔
- พระธมฺมรกฺขิต พ.ศ. ๒๐๕๔-๒๐๕๕
- พระเอยฺยอปฺปกะ พ.ศ. ๒๐๕๕-๒๐๕๖
- พระมหาสีลปญฺโญ พ.ศ. ๒๐๕๖-๒๐๗๑
- พระมหาสงฺฆราชสทฺธมฺมทสฺสี พ.ศ. ๒๐๗๑-๒๐๘๗
- พระมหาสงฺฆราชาญาณมงฺคละ พ.ศ. ๒๐๘๗-๒๐๙๙
- พระมหาสงฺฆราชชวนปญฺโญโสภิตขิตินทริยวงฺโส พ.ศ. ๒๐๙๙-๒๑๐๙
- พระมหาสามิคณาจิตฺต พ.ศ. ๒๑๐๙
- ครูบาพุทธิมาวงฺโส พ.ศ. ๒๓๑๔
- ครูบามหาวัน พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๖๒
- พระครูพุทธศาสน์สุประดิษฐ์ (อินถา ทาริโย) พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๘๓
- พระครูสุวิทยธรรม (สม สุมิตโต) พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๓๓
- พระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) พ.ศ. ๒๕๓๔-ปัจจุบัน