วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตำบลฮอด อำเภอฮอด

0
2028
วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตำบลฮอด อำเภอฮอด ที่ตั้ง เลขที่ 180 หมู่ 1 แควมะกอก ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50240

ประวัติ วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว

วัดพระธาตุแก้วข้าว อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ (วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว)
ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด มีสภาพเป็นวัดร้าง ในเวลาต่อมาถูกยกจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มีสิ่งที่น่าสนใจภายในหลากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทแก้วข้าว วิหารพระเจ้าทันใจ พระธาตุวัดพระพุทธบาทแก้วข้าว อุโบสถ รวมทั้งศาลาบาตร วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตั้งอยู่ บ.แควมะกอก ม.๑ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดย รอยพระพุทธบาทแก้วข้าว วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายของ พระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ในมหาภัทรกัป ขนาดกว้าง ๒๔ นิ้ว ยาว ๖๔ นิ้ว ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลกกัณฑ์ที่ ๙ ตรงที่กล่าวถึงพญานาคควักดวงตาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์พยากรณ์ว่า สถานที่นี้จักได้เป็นเมืองเมืองหนึ่ง ชื่อ “มหานคร” สันนิษฐานว่า คือ “เมืองพิสดารนคร” อยู่เขต อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน กว้าง ๑๕๐ วา ยาว ๑๗๕ วา เป็นกำแพงสองชั้นคูเมืองมีน้ำล้อมรอบ

ตำนานและประวัติพระพุทธบาทแก้วข้าว วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว

(แหล่งที่มา : เอกสารหนังสือตำนานพระพุทธบาทแก้วข้าว วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว)

ในอติเตกาเลในกาละ วันเดือนปีผ่านไปแล้วก่อนจะได้นับพ.ศ. คือพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ตาทั้งหลายก็ได้ไปโปรดพระยาสีสู่ พระยาขุนแสนทอง ยังดอยเกิ้ง แล้วก็ได้เสด็จไปตามลำน้ำปิง พวกชาวบ้านชาวเมืองได้เห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ตาเป็นบริวาร พวกชาวลัวะชาวว้าไม่เคยพบเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อนเพราะใส่ผ้าสีดำย้อมฝาด ก็พากันเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้พากันเอาข้าวห่อไปใส่บาตรเป็นทานแก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ตาเจ้าทั้งหลาย แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้ไขผอูปแก้ว คือปากของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ว่าให้พากันรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ สถานที่แห่งนั้นก็เรียกว่า ดอยอูปแก้ว จนถึงปัจจุบัน

แล้วพวกชาวลัวะทั้งหลายก็ได้ทูลบอกแก่พระพุทธเจ้าว่า การทำไร่นาไม่มีน้ำ ต่อไปบ้านเมืองแห่งนี้จึงมีชื่อว่า เมืองฮอดแห้ง จึงได้ให้พระอรหันต์ไปทำกังหันไม้ไผ่วักน้ำใส่นา ชาวบ้านเรียกว่า วงศ์หลุก จะมีมากในวันข้างหน้า จนเรียกสถานที่นั้นว่า วังหลุกหรือวังลุงปัจจุบัน แล้วบอกกับชาวลัวะทั้งหลายให้รักษาศีล ๕ ข้อไว้ ต่อไปจะไม่ได้ทุกข์ลำบาก จะมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติไหลมาเทมา เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ได้ถวายทานข้าวห่อ

แล้วจะได้เสด็จไปยังดอยกลอมเป็นดอยจอมปัจจุบัน พระพุทธเจ้าหิวน้ำ ก็ได้ให้พระอานนท์เอาบาตรไปตักน้ำยังวังแก้ว แม่ปิง มีพยานาคได้รักษาเฝ้าดูแลยังวังแก้วที่นั้น พยานาคก็ได้กวนน้ำให้ขุ่นไปหมดทั้งวัง พระอานนท์ก็ได้เอาฝาบาตรมาตักน้ำนั้น พยานาคก็ได้เอาหางไปปัดฝาบาตรให้หลุดจากมือพระอานนท์จมลงวัง ให้พระอานนท์ตกใจ พอมีสติพระอานนท์ก็เอามีดไปตัดเอาเครือเขาเถาวัลย์ เอามาสานเป็นตาข่ายเพื่อเวียนหาเอาฝาบาตรนั้น มีดของพระอานนท์ก็หลุดหล่อนออกจากด้าม พระอานนท์ก็เก็บมีดมาสอดใส่ด้าม เอาด้ามมีดตอกกับก้อนหินเป็นรอยลึกเข้าไปในก้อนหินนั้น กว้าง ๖ นิ้วฟุต ลึก ๖ นิ้วฟุต ได้รักษาไว้อยู่ข้างวิหารด้านใต้แห่งวัดพระพุทธบาทแก้วข้าวถึงทุกวันนี้ อันตาข่ายเครือเขาเครือเถาวัลย์พระอานนท์ก็ได้เอาทิ้งไว้บนฝั่งน้ำปิง มนุษย์ทั้งหลายมาเห็นก็ได้นำไปเรียนแบบในทางหากินเป็นแห จี๊บ จ๋ำ จำมอง มาจนถึงทุกวันนี้

อหังพระพุทธเจ้าล่วงรู้ด้วยญาณทิพย์ว่าจะได้ไปโปรดพยานาคยังวังแก้วแม่ปิง ได้เสด็จตามหาพระอานนท์ พระอรหันต์ตาก็ได้ติดตามไปด้วย พระอรหันต์ตาได้พับตีนผ้าสบงให้พระอานนท์เห็นปริศนา พระอานนท์คิดได้ว่าการทำตาข่ายจะต้องมีถุงจึงจะได้ของเข้าไปติดที่ถุงนั้น ฉะนั้นผ้าสบงจีวรของพระภิกษุสงฆ์สามเณรจึงมีรอยพับมาจนถึงทุกวันนี้ อันว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงโปรดแก่พยานาค พยานาคก็อ่อนลงหมดแรงดิ้นรน พยานาคยอมแพ้ก็ได้นำน้ำสะอาดบริสุทธิ์มาถวายทานแก่พระพุทธเจ้าและอรหันต์ตาเจ้าทุกรูปทุกองค์ พยานาคได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสได้ควักลูกตาทั้งสองถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแล้วทูลลาไปยังเมืองบาดาล

ทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์แก่นตาทิพย์เกิดแสงสว่างแจ้งเป็นแสนเท่าแก่พยานาค ได้ยกเอาก้อนหินแสงข้าว ผุดแผ่นดินขึ้นมาใหม่เท่าวาผัดมนขอให้พระพุทธเจ้าเอาเท้าหรือเรียกว่าปาตะตินข้างซ้ายเหยียบย่ำลงไปบนลูกแสงแก้วข้าวนั้น กว้าง ๒๖ นิ้วฟุต ยาว ๖๕ นิ้วฟุต ให้ไว้เป็นที่กราบไหว้แก่มนุษย์และเทวดาตลอดห้าพันวัสสาสืบไป

อหังอันว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ตาทั้งหลายก็ได้เสด็จไปยั้งเมืองอังครัฐนคร หรืออำเภอจอมทองปัจจุบัน ล่วงกาลเวลาผ่านไปเมื่อนับพ.ศ.เกิดขึ้นที่วัดพระพุทธบาทแก้วข้าวแห่งนี้ได้พระเถระเจ้าองค์หนึ่งมีชื่อว่า พระมหาธรรมราช ตรงกับพ.ศ.๑๐๐๐ พระธรรมราช ได้มาอยู่จำศีลภาวนา เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการมาก ท่านมหาเถระธรรมราชได้สร้างวัตถุบูชายังสารรูปของพระพุทธเจ้าองค์เล็กไว้ห้อยคอ พระมหาเถระธรรมราชก็ได้ตั้งจิตอธิฐานให้สำเร็จคำอธิฐาน ร้อนไปถึงพระพรหมชินนะปัจจะระบนสวรรค์ พระพรหมชินนะปัจจะระได้นำก้อนแก้วมณีโชคมาถวายทานให้ท่านมหาเถระธรรมราช มีหลายสี พระมหาเถระธรรมราชก็ได้ให้ช่างมาแกะสลัก ไม่มีช่างคนไหนแกะได้คำอธิษฐานของพระมหาธรรมราช ร้อนไปถึงพยาอินตาบนสวรรค์ พระยาอินตาก็ได้มอบหมายให้เทวดาประจำวันทั้งเจ็ดปลอมเป็นชีผ้าขาวไปขออนุญาตจากพระมหาธรรมราช

เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ชีผ้าขาวทั้งเจ็ดคนช่วยกันแกะสลักก้อนแก้วมณีโชคหลากหลายสีองค์ใหญ่เอาบูชาไว้กับบ้านเรือน องค์เล็กเอาห้อยคอ แกะสลักได้เจ็ดวันได้พระรูปแก้วมณีโชค ๘๔๐๐๐ องค์ พระมหาเถระก็ได้ทำพิธีสวดมนต์เทศนาธรรม พระมหาเถระและชีผ้าขาวบอกให้ชาวบ้านทำบอกไฟจุดขึ้นมาบนท้องฟ้าได้ ๑๐๘ ลูก ชีผ้าขาวพากันขึ้นนั่งบนหัวบอกไฟแล้วจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าอันกว้าง ชีผ้าขาวก็หายไปในอากาศ ชาวบ้านชาวเมืองหากันแตกตื่นส่งเสียงร้องสาธุ สาธุ สาธุ เป็นโกลาหลทั่วทั้งเมือง

พระมหาเถระทำนายไว้ว่าในข้างหน้าจะได้เป็นมหานครมีนามว่า พิสดารนคร อยู่ต่อมาลุถึงพ.ศ.๑๒๐๐ ปี ก็มีเจ้าแม่จามเทวี มาสร้างเมืองใหม่นามว่า พิสดารนครตามที่พระมหาเถระได้ทำนายไว้แล้ว พระมหาเถระนำเอาพระแก้วมณีโชค ๘๔๐๐ องค์ บรรจุในไห ๕๖ ไห ขุดฝังดินลึก ๗ ศอก ให้พยานาค มีนามว่า พระยาสีเสน เป็นผู้ดูแลรักษา มาจนถึงสมัยสมเด็จโต พรหมรังสี ได้ออกเดินธุดงค์มาถึงวัดพระพุทธบาทแก้วข้าว หลวงปู่สมเด็จโต พรหมรังสี เอาแก้วมณีโชคไปห้าไห และได้เก็บไว้บนเพดานอุโบสถวัดระฆัง

อยู่ต่อมาปลายปีพ.ศ.๑๒๐๐ มีข้าศีกพม่ายกทัพทหารมาล้อมรอบเมืองพิสดารนคร ช่วยกันขุดรอยพระพุทธบาทเพื่อยกไปเมืองตองอู พม่า เจ้าแม่จามเทวีรู้ข่าวก็นำอาอาหารจากนครหริภุญชัยมาสู้รบขับไล่ สนามรบคือ แพะดินแดง หรือหมู่บ้านแพะดินแดงปัจจุบัน จนได้ชัยชนะ เจ้าแม่จามเทวีได้นำทหารมาบูรณะซ่อมแซมยังรอยพระพุทธบาท และสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายได้คืนดังเดิม แล้วก็ได้สร้างเจดีย์สูง พระเจ้าโท้ เป็นอนุสรณ์สถานประกาศชัยชนะในครั้งนั้น

อยู่ต่อมาจนถึงพ.ศ.๒๔๕๒ มีเจ้าแม่ดารารัศมี ครองราชย์นครเชียงใหม่ มาถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองยังรอยพระพุทธบาทแก้วข้าว ตรงกับวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๕๒ เวลาเที่ยงถึง ๑๖.๐๐ น. แล้วเสด็จไปยังบ้านพักรับรองท่าเดื่อ อ.ดอยเต่า

ต่อมาพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย พร้อมด้วยลูกศิษย์ศรัทธาทั้งหลายมาบูรณะสร้างวิหารใหญ่ครอบรอยพระพุทธบาทแก้วข้าวตามที่ได้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาพ.ศ.๒๔๖๘ ครูบาขาวปี๋ (ครูบาอภิชัยขาวปี) พร้อมด้วยลูกศิษย์ศรัทธาผู้ใจบุญทั้งหลาย ได้ช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ในเขตพุทธาวาสให้ราบเบียงมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาพ.ศ.๒๕๓๘ ก็มีครูบาทอง สิริมงฺคโล เจ้าคณะอำเภอฮอด พร้อมด้วยคณะสงฆ์ศรัทธาช่วยกันบูรณะเปลี่ยนดินขอหลังคาวิหาร ช่อฟ้าใบระกา ไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าสู่วัดพระบาทแก้วข้าว มาถึงพ.ศ.๒๕๔๖ ครูบาทอง สิริมงฺคโล ให้แม่ชีศรีบุตร สุปินตา พร้อมคณะได้เข้ามาพัฒนาฝึกสอนกรรมฐาน ยุบหนอ พองหนอ ในแนวสติปฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นบ่อเกิดปัญญาสว่างขจัดยังกองทุกข์ให้สิ้นสุดไป มีพระอธิการอินถา เดชวโร เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

จุดธูป เทียน ถวายดอกบัว ลูกแก้วจักรพรรดิ ปิดทอง เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบต่อไปจน ๕๐๐๐ ปี

ประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทแก้วข้าว วันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ (ก.พ.-มี.ค.)

คำไหว้ปาต๊ะ (รอยพระพุทธบาท)

(ขึ้นต้น นะโม 3 จบ)

โยนาคะ ปุเลพุทธ ปาต๊ะวะรัง

อะหังวันทามิ สัพพะตา

คำไหว้พระเจ้าทันใจ

(นะโม ๓ หน แล้วว่า ๓ จบ) ตะมะหัง ขิปปะจิตตะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ ตะมะหัง
ขิปปะจิตตะ พุทธัง เมสิ ระสา อะภิปูชะยามิ
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวะตุเม
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา มะหาลาโภ ภาวะตุเม
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา มะหา ยะโส ภาวะตุเม

เรียบเรียงโดย at-chiangmai.com

แผนที่ วัดพระพุทธบาทแก้วข้าว ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่