วันดีวันเสีย ปฏิทิน ล้านนา ภูมิปัญญา เรื่องวันเดือนปี กับความผูกพันธ์ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตแต่ละวันของ คนเหนือ ชาวล้านนา ที่มีมานับตั้งแต่ในอดีตแล้ว
ด้วยเอกลักษณ์ที่เป็นสเน่ห์ ที่ใคร ๆ ต่างก็เคยสัมผัส กลิ่นอาย วัฒนธรรมต่างๆ ล้านนา ภาษาพูด ภาษาเขียน ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าล้านนาเองก็มีการ นับเดือน หาฤกษ์ หายาม หาวัน ประกอบพิธีต่าง ๆ ที่เป็นรูปแบบของล้านนาเอง ที่ยังมีใช้กันถึงทุกวันนี้ แต่ก็เริ่มเลือนหายไปบ้าง ถือว่าเป็นมรดกล้ำค่าที่เราควรอนุรักษ์ไว้สืบต่อไป
บทนำ
ชาวล้านนามีความผูกพันกับปฏิทินหรือ “ปักขทืน” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับ “วัน” อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ได้จัดการนับวันของชาวล้านนาได้ถึง 5 ระบบคือ
- วันตามแบบพุทธศาสนา
- วันเมง (เม็ง)
- วันแบบโหราศาสตร์
- วันแบบไทหรือหนไท
- วันตามความเชื่อ
บทความนี้มุ่งจะเสนอเฉพาะระบบที่ 5 คือวันตามความเชื่อ หรือ “วันดีวันเสีย” และในที่นี้ขอใช้คำว่า “วันดีวันเสีย” เพราะเป็นคำที่คุ้นหูมากกว่า
“วันดีวันเสีย” เป็นวันที่คนล้านนาเชื่อว่าเป็นวันที่ควรหรือไม่ควรสำหรับทำพิธีกรรมหรือ กิจกรรมต่างๆ เนื้อหาในบทความนี้จะเสนอ “วันดีวันเสีย” ที่ปรากฏในวรรณกรรมล้านนา ทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และวรรณกรรมมุขปาฐะเท่าที่พอจะรวบรวมได้ในเวลาอัน จำกัด ทั้งนี้ไม่นับรวมงานวรรณกรรมที่แต่งเพื่ออธิบายที่มาหรือคำทำนายของวันเหล่า นี้ แต่จะศึกษาจากวรรณกรรมที่สอดแทรกเรื่อง “วันดีวันเสีย” ไว้เป็นสำคัญ เพื่อจะยืนยันถึงความเชื่อและความศรัทธาของคนล้านนาที่มีต่อวันดังกล่าว การที่กวีหรือผู้ประพันธ์สอดแทรกเรื่อง “วันดีวันเสีย” ลงในงานวรรณกรรมของตน ย่อมหมายความว่าความเชื่อเรื่องนี้มีคุณค่าและความสำคัญในระดับหนึ่ง
วันดีวันเสีย เป็นการนับวันตามคติความเชื่อแบบท้องถิ่น การยึดถือเช่นนี้ยังไม่พบที่มาของความคิด หรือวิธีการจัดระบบความคิดได้ชัดเจน แม้จะเป็นเพียงความเชื่อตามคตินิยมก็ตาม แต่ก็ได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนทั่วไปเสมอมา วันดีวันเสีย ที่ปรากฏในเอกสารและที่คนล้านนาเชื่อถือมีอยู่มากมายเท่าที่ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ได้รวบรวมไว้มีมากถึง 90 วัน แต่ยังพบว่ามีมากกว่านั้น โดยเชื่อถือแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคในที่นี้ขอเลือกนำเสนอ วันดีวันเสีย เพียงบางส่วนดังนี้
วันฟ้าตีแส่ง
วันฟ้าตีแส่ง หรือวันฟ้าตีแส่งเศษ หรือวันฟ้าตีแฉ่ง ความหมายของวันนี้นัยว่าเป็นวันที่ “ฟ้า” (สวรรค์) ตี “แส่ง หรือ แฉ่ง” ซึ่งหมายถึงฉาบขนาดเล็ก อนุมานได้ว่าว่า ?ฟ้า? อยู่ในอารมณ์รื่นเริง ชื่นชม ยินดี อีกกระแสหนึ่งเห็นว่าเดิมควรเป็นคำว่า “ฟ้าตี่แสง” อันหมายถึง ฟ้าฉายแสง หรือ เบิกม่านฟ้า มากกว่า เพราะการบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนามักไม่เคร่งครัดเรื่องวรรณยุกต์ นับว่าทั้งสองแนวคิดต่างก็มีเหตุผลน่ารับฟังและสมควรที่จะตรวจสอบความถูก ต้องต่อไป แต่ในบทความนี้ขอใช้ว่า “วันฟ้าตีแส่ง” ไปพลางๆ ก่อน
วันฟ้าตี แส่งเป็นวันที่คนล้านนาบางส่วน เชื่อว่าเป็นวันที่สำคัญกว่าวันอื่นใด หรือเรียกว่า เป็นวันครบวันทั้งหลาย ใช้สำหรับดูวันสำหรับทำพิธีมงคลสมรส การสร้างบ้านใหม่ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้านค้า สำนักงาน และโรงทำพิธีทุกชนิด หากคำนวณหาวันฟ้าตีแส่งทำนายว่าดี ก็จะชนะภัยและอัปมงคล ทั้งปวง ในทางกลับกันหากเศษการคำนวณทำนายว่าไม่ดีแล้วก็พึงงดประกอบพิธีมงคลนั้นเสีย
สูตรการคำนวณวันฟ้าตีแส่ง
เอา จุลศักราชปีที่ต้องการคำนวณตั้ง หารด้วย 108 แล้วเอาเศษการหารตั้ง บวกด้วยเกณฑ์เดือน และบวกด้วยติถีวัน ที่ต้องการคำนวณ คูณด้วย 5 ลบด้วย 7 แล้วหารด้วย 9 เศษที่ได้ถือว่าวันนั้นเป็นวันฟ้าตีแส่งเท่านั้น มีคำทำนายดังนี้
เศษ 0, 1, 8 ไม่ดี แม้เป็นพระญาอินทราธิราชขึ้นทรงปราสาทก็จักวินาศฉิบหาย อย่าทำพิธีหรือกิจกรรมใด ถ้าทำไปไม่ถึงปีก็จักตาย หรือฉิบหาย หรือถูกไล่หนี
เศษ 3, 7 ไม่ดี ไฟจักไหม้ หรือจักประสบอุบัติเหตุ เป็นอันตรายแก่ท้าวพระญา (ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง) ผีเสื้อบ้าน เสื้อเมือง หรือมิฉะนั้นตนจักตาย หรือจักเสียทรัพย์สิน เสียข้าวของเงินทอง
เศษ 2, 4, 5, 6 ดี จะประสบผลสำเร็จทุกประการ แม้นทุกข์ยากเข็ญใจก็จักได้ดี อยู่ดีมีสุข พรั่งพร้อมด้วยยศ สมบัติ ข้าวของเงินทอง
หากพิจารณาให้ดีตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณล้วนแต่มีความหมาย ดังนี้
เลข 108 หมายถึง กำลังธาตุ
เลข 5 หมายถึง เบญจขันธ์ทั้ง 5
เลข 7 หมายถึง จำนวนวาร (วันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์)
เลข 9 หมายถึง นพเคราะห์ทั้ง 9
เชื่อ ว่าวันฟ้าตีแส่งคงเป็นวันที่เคยมีความเชื่อถือกันอย่างเข้มข้น เพราะในวรรณกรรมมีการอธิบายสูตรการคำนวณอย่างละเอียด โดยเฉพาะในคำเรียกขวัญลูกแก้ว ที่มักกล่าวอ้างว่าวันทำพิธีเป็นวันดีกว่าวันทั้งหลาย และผ่านการคำนวณดูวันฟ้าตีแส่งและได้เศษสมดังประสงค์ ขอยกบางสำนวนดังนี้
เป็นวันยามอันหมดปลอด
เป็นยอดเจ้าพระญาวัน
ท่านจิ่งมาตั้งคำประสานขึ้นเป็นบทเป็นบาท
ตั้งศักราชที่ประสงค์ (ตั้งปีจุลศักราชที่ต้องการคำนวณ)
ร้อยแปดจหารเล่า (เอา 108 มาหาร , จ = หาร)
(เศษ)เกณฑ์เดือนติถีวันบวกเข้าเบงนั้นมาคูณ (เบง = เบญจ = ห้า)
สัตตะเอยียบตัวปลายเอามาผายไว้เล่า (เอาเจ็ดลบออก แล้วตราไว้ก่อน)
นวเท่ามาจก็ได้เศษตัวใหญ่ (เอาเก้ามาหาร)
ศุกร์ ผัด พุธ จันทร์ ใช่สามานย์ (ใช้แทนเลข 6,5,4,2 ตามลำดับเป็นเศษที่เชื่อว่าดี)
ก็เป็นวันยามอันประเสริฐ…
อีกสำนวนหนึ่งว่า
สรีสวัสสดี ชัยมังคละอันประเสริฐ
วันนี้เป็นวันอันล้ำเลิศมหาอุจจา
เอาศักราชมาตั้งเล่า
เอาร้อยแปดเข้ามาหาร
ปัญจมานคูณใส่ (คูณด้วย 5)
ติถีไล่เป็นขอม (ไล่ติถีตามแบบขอม)
เกณฑ์เดือนรอมเข้าบวก (บวกเพิ่มด้วยเกณฑ์เดือน)
เอาเลขเก้าลวดลงหาร (หารด้วย 9)
เศษเป็นฐานชัยโชค (ดูเศษเป็นสำคัญว่าวันใดเป็นวันดี)
อุตตมโยคใสสรี
เป็นเกินแก้วสวัสสดีแควนยิ่ง?? (บันได)
จะ เห็นได้ว่าการอธิบายวิธีการคำนวณวันฟ้าตีแส่งสำนวนนี้ต่างจากสำนวนแรกคือ เอา 5 คูณก่อนแล้วจึงบวกด้วย ติถีวันและเกณฑ์เดือน อีกทั้งยังไม่เอา 7 มาลบออกจึงทำให้ผลการคำนวณผิดไปจากสูตรที่แท้จริง อาจเป็นไปได้ว่าผู้แต่งไม่ได้ต้องการความถูกต้องเพียงแต่ต้องการแสดงโวหาร เท่านั้น หรือไม่ก็อาจคัดลอกผิดพลาดในชั้นหลัง
ในคำเรียกขวัญลูกแก้ว อีกสำนวนหนึ่งก็กล่าวถึงวันที่ทำพิธีว่า คำนวณได้เศษที่ดีตามคำทำนายคือได้เศษ 5, 4, 6, 2 (ตัวใดตัวหนึ่ง) ดังนี้
อัชชะในวันนี้นาดูล้ำเลิศ
ดูประเสริฐยิ่งกว่า ปีเดือน วัน ยาม ทังหลาย
ตามกฎหมายว่ามีหลายแห่ง
ฟ้าตีแส่งก็ว่าได้เศษห้าสี่หกสอง
ตามกัมพีร์โหราท่านตรองจองออก??
ใน “พรขึ้นอยู่เรือนใหม่” ซึ่งอยู่ท้ายคร่าวซอเรื่อง บัวระวงศ์ไกรสร ก็กล่าวถึงวันขึ้นบ้านใหม่ว่าผ่าน การคำนวณวันฟ้าตีแส่งเรียบร้อยแล้ว ดังความว่า
เอวํ โหนตุ ดี แลอัชชะในวันนี้
ก็หากเป็นวันดีติถีวิเศษ
สมฤทธิเดชเรืองไร
อันนักปราชญ์ท่านหากทำนวายมาแม่น
ลงฟ้าตีแส่งแลโหรา
บ่มีโศกาเศร้าโศก
วันติถีทังห้า
วัน ติถีทังห้า หรือวันติตถีทังห้า หมายถึงวันข้างขึ้นข้างแรมที่โบราณาจารย์กำหนดไว้ว่า วันใดเหมาะหรือไม่เหมาะแก่กิจกรรมใดโดยกำหนดติถีวันต่างๆ ดังกล่าวไว้ว่าประกอบด้วย
1. ขึ้น ? แรม 1 ค่ำ, 6 ค่ำ, 11 ค่ำ ตรงกับวันศุกร์ ชื่อว่า นันทาติถี
2. ขึ้น ? แรม 2 ค่ำ, 7 ค่ำ, 12 ค่ำ ตรงกับวันพุธ ชื่อว่า ภัททราติถี
3. ขึ้น ? แรม 3 ค่ำ, 8 ค่ำ, 13 ค่ำ ตรงกับวันอังคาร ชื่อว่า ไชยยาติถี, ไชยยติถี
4. ขึ้น ? แรม 4 ค่ำ, 9 ค่ำ, 14 ค่ำ ตรงกับวันเสาร์ ชื่อว่า ริทธาติถี, ริตตาติถี
5. ขึ้น ? แรม 5 ค่ำ,10 ค่ำ, 15 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี ชื่อว่า ปุณณาติถี, ปุณณติถี
ขอแยกอธิบายแต่ละวันโดยละเอียดและยกตัวอย่างวันต่างๆ ที่พบในงานวรรณกรรมล้านนาดังนี้
วันนันทาติถี
ชาว ล้านนาเชื่อว่า วันนี้เหมาะแก่การปลูกสร้างบ้านใหม่ วิหาร ศาลา ขุดสระน้ำ ก่อหรือหล่อพระพุทธรูป ก่อเจดีย์ ปลูกข้าวในนา เดินทางไปค้าขาย ยกยอพระมหาเถรสังฆราชานายก พระสวามี ตั้งอุปราช ราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ ทำขวัญ ตัดเย็บเสื้อผ้านุ่ง ทำมุ้ง ตัดช่อและ ทุงไชย
ในคร่าวรับเสด็จพระ เจ้าน้องยา เธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากรซึ่งแต่งโดยพระญาพรหมโวหารได้กล่าวว่าวันที่พระเจ้า น้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทรงเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่มณฑลพายัพเป็นวันนันทาติถี ดังคร่าวที่ว่า
องค์อนุชา ก็น้อมคำนับ จอมเกศเกล้า ภูบาล
บ่ย่อท้อ แก่ราชการ มาเกณฑ์แต่งคราน ตาหานไพร่ฝ้า
มีจดหมาย อั้บไปชุหน้า ผัดนัดวัน บอกไว้
ขุนนางใน มหาดเล็กใช้ คัดเลือกผู้ คนดี
วันรอดมื้อ นันทาติถี ไชยฤกษ์ดี ฤกษ์ร้ายบ่ต้อง
เสด็จจากตึก พิลึกกึกก้อง ริพลนอง คั่งคับ
ใน หนังสือซอคร่าวร่ำรับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในตอนที่เสด็จถึงนครเชียงใหม่และบรรดาพระญาติจะจัดให้มีพิธีทูลพระขวัญนั้น ก็เลือกวันนันทาติถีเป็นวันทำพิธีเช่นกัน ดังคร่าวว่า
เจ้าญิงหลาย เจ้าชายรอบล้อม หลายมากเจ้า นารี
จัดดอกไม้ ใส่ขันใบสี มีจอมเทวี ทิพเนตรเจ้า
จัดมาลี รังสีบ่เส้า กาบเมืองเรา ยอดค้อม
บุษบา เจ้าตาพร่ำพร้อม จอมหม่อมห้าม ในวัง
ตบแต่งครับ ประดับบุปผัง หอมคันธัง ชารสใช่หน้อย
หลากหลายสี งามดีอ่อนอ้อย ไหมมีคำ สอดม้วน
วันเม็งหมดใส วันไทปลอดล้วน จับถูกถ้วน นันทา
จิ่งเอาแม่ช้าง ตัวงามหนักหนา จัดซื้อมา ห้าพันบาทใต้
แม่เชียงราย เจ้าองค์ที่ไหว้ ใส่นามา ว่าเพราะ
วันภัททราติถี
ชาว ล้านนาเชื่อว่าวันนี้เหมาะแก่การส่งศุภสาส์นการทูต ส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว ทำพิธี แต่งงาน ล้างหรือทำความสะอาดเครื่องประดับ ย้ายที่อยู่ แกะสลัก เขียนภาพ ตัดไม้มาทำ บ้านเรือน เข้าอยู่บ้านใหม่ อยู่เมืองใหม่ หากตั้งชื่อ ยศ ศักดิ์ หรือตำแหน่งบุคคลจะดีมาก
ในคร่าวรับเสด็จพระเจ้า น้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กล่าวถึงวันที่พระเจ้า อินทวิชยานนท์จัดให้มีพิธีทูลพระขวัญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตฯ ว่าตรงกับวันภัททราติถี ซึ่งปรากฏว่าตรงกับวันพุธ แรม 2 ค่ำ ตามหลักเกณฑ์การหาวันภัททราติถี ดังคร่าวที่ว่า
เดือนสิบแรม สองค่ำวันพุธ เป็นโยคหม้า วันดี
ในวันนั้น ภัททราติถี เอาวาที เข้าทูลกราบเฝ้า
องค์จอมขุน ครั้นรู้ทูลเหง้า ว่าเป็นวันดี บ่ช้า
ก็หื้อจัดแจง แต่งห้างช้างม้า ครบเครื่องถ้วน เร็วพลัน
จำลองแหย่งช้าง ที่วันทูลขวัญ ปิดทองคำ นีดเน้นแก้วป้อง
กูบพายบน แยงยงแสงอย้อง ดอกใบเครือ เรื่อล้ำ
อีกตอนหนึ่งว่า
ทังอัสสา กุญชาม้าช้าง ตัวเอกอ้าง งางอน
ก็จัดแต่งพร้อม อาทิตย์เทียวจร แตรสู่ทอน แรมสองค่ำได้
เดือนสิบเหนือ คือเดือนแปดใต้ จันทร์เทียวใน ฤกษ์ฟ้า
ยี่สิบสามตัว บ่มัวต่ำช้า เป็นโยคหา วันดี
เม็งวันพุธ ภัททราติถี วันไทมี กดสันชื่อหมั้น
ขันบายศรี โภชน์โภพร้อมหั้น ทังกุญชา มิ่งม้า
ใน คำร่ำโอกาสถวายทานพระวิหารพระธาตุเจ้าเสด็จ อ. เมือง จ. ลำปาง ก็ได้กล่าวถึงวันรื้อพระวิหารเพื่อทำการบูรณะใหม่ว่าเป็นวันภัททราติถี และตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำตามหลักเกณฑ์การหาวันภัททราติถีเช่นกัน ดังคำร่ำว่า
กุศลผลมาดลสู่ใกล้
จุลศักราชได้ 1200 ล่วงเลยมา
97 พระวัสสาจดจำไว้ได้
นามว่าปีดับใค้
เดือน 6 ออก 2 ค่ำวันดี
ภัททราติถีวันพุธใสบ่เส้า
มาหันพระวิหารเจ้า
หลังเก่านั้นโซเซ
จิ่งได้พร้อมกันเทลงไว้เป็นห้อง
วันไชยยาติถี
ชาว ล้านนาเชื่อว่าวันนี้เหมาะแก่การทำเครื่องมือศาสตราวุธทุกชนิด ประกาศสงคราม เจรจาความเมืองหรือต่อสู้คดีความ เลี้ยงหมู่ทแกล้วพลหาญ เรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ ก่อสร้างเมืองใหม่ ทำความสะอาดอาวุธ และทำรั้ว
ในบทเรียกขวัญสำนวนหนึ่งได้กล่าวอ้างว่าวันที่ประกอบพิธีเป็นวันมงคล ตรงกับวันไชยยาติถี ดังนี้
อชฺชเชยฺยโส อชฺชเชยฺโย อชฺชมงฺคโล มงฺคลสมฺภูโต
มหาไชยยิ่งโยชน์ อุตตมโชคลือเมือง
???????. ??????
บวรอันยิ่งไชยยาติถี ได้มหาอุจจาลัคนาโชค
กองตรงนวางศ์ส่งตาประเสริฐ ฤกษ์ล้วนถ้วนแม่นวันดี
ไชยยติถีเป็นดีงามวิเศษ
คำเรียกขวัญคู่บ่าวสาวสำนวนหนึ่ง ก็กล่าวอ้างถึงวันไชยยาติถีเช่นกันดังนี้
อชฺชเชยฺยโส อชฺชเชยฺโย อชฺชมงฺคโล
อัชชะในวันนี้ก็เป็นวันดี
เป็นวันไชยยาติถีอันใสบ่เส้า
เป็นวันมูลมั่งเท้าเลิศลาภา
พิมพาขะนุ่นงิ้วมาได้เจ้าก่ำกาดำ
เจ้าเงาะมาได้แม่รจนาก็เป็นวันนี้เนอเจ้า
ในบทซอเรียกขวัญลูกแก้วทำนองดาดเมืองน่านของช่างซอเมืองน่าน ก็กล่าวอ้างถึงวัน ไชยยาติถีเช่นกันความว่า
วันมิ่งมงคลไชยยาติถี วันโกสัมพีตัวเมืองสร้างบ้าน
ว่าเป็นวันดีบ่เส้าบ่ม้าน หมอใหญ่ในบ้านเพิ่นว่าวันมีชัย
เป็นวันพระนาคโปรดสัตว์ทังหลาย เป็นวันเอย็นเงินไหลหลั่งข้อน
เป็นวันช่างซอจะเอาขวัญนาคน้อย
ใน บทซอขึ้นเรือนใหม่ ทำนองเพลงอื่อก็กล่าวถึงวันไชยยาติถี (ไชยติถี) เช่นกัน แต่คงเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น เพราะในบทซอกล่าวว่าวันทำพิธีตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำซึ่งมิได้เป็นไปตามเกณฑ์การหาวันไชยยาติถีแต่อย่างใด ดังบทซอว่า
พี่น้องบ้านเราเอาใจเป็นกัน มาผ่อสล่าเป็นฟ้าวเป็นฟั่ง
วันเดือนหกออกสิบสองค่ำ วันนั้นก็เป็นวันดี
เพิ่นทึงจะปกจะแปง วันนั้นเป็นวันไชยยติถี
ซ้ำเป็นวันโชคชัยดี เป็นวันมงคลใสสว่าง
วันริทธาติถี, ริตตาติถี
ชาว ล้านนาเชื่อว่าวันนี้เหมาะแก่การทำเรือกสวน ไร่ นา ปลูกต้นไม้ สร้างถนนหนทาง ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ทำแก้วแหวนมิ่งมงคล ตัดเสื้อผ้า ทำขวัญ ตัดผม ทาน้ำมัน น้ำหอม เข้าเฝ้าเจ้านาย
วันปุณณาติถี
ชาว ล้านนาเชื่อว่า วันนี้เหมาะแก่การนำข้าวใหม่ใส่ยุ้งฉาง ทำถุงหรือกระเป๋าใส่เงิน ไถ่ข้าทาสหญิงชาย หรือนำคนรับใช้เข้ามาอยู่ในบ้าน พระสงฆ์เริ่มเรียนหนังสือ เรียนธรรม บรรพชา อุปสมบทภิกษุสามเณร สร้างเวียงวัง ก่อกำแพง ตั้งชื่อท้าวพระญา เสนาอามาตย์ ข้าราชการ
ในหนังสือซอคร่าวร่ำรับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในตอนที่เสด็จถึงนครสวรรค์ กล่าวว่าตรงกับวันปุณณติถีพอดี ดังคร่าวว่า
ยามเสด็จ ลงจากรถตั้ง นราชน คั่งคับ
มีท่านเสนา อยู่ถ้าคอยรับ คับคั่งแหน้น เรืองไร
ปุณณาทิวะ รุ่งแจ้งแสงใส พระนงวัย ประพาสกาดแก้ว
วันสูญ วันไสย วันปลอด
วัน สูญ วันไสย เป็นวันที่ชาวล้านนาเชื่อว่าไม่ควรประกอบพิธีมงคล หากวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “สูญ” หมายถึง ความว่างเปล่า ความหายสิ้นไป หรือความเสียหาย ส่วนคำว่า “ไสย” หมายถึง นอน ถ้าวันนั้นเป็นวันนอนหรือฉุดไม่ขึ้น หรือล้มลงไป ทำอะไรก็คงไม่ดี ทำไม่ขึ้นนั่นเอง ทั้งสองคำก็ล้วนแต่มีความหมายในทางไม่เป็นมงคลทั้งสิ้น
ส่วน “วันปลอด” เป็นวันที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเหมาะสำหรับทำการมงคลทุกอย่าง คำว่า”ปลอด”หมายถึง รอด รอดพ้น สะดวก ราบรื่น เช่นในคำว่า ปลอดภัย ปลอดโปร่ง เป็นต้น
หลักฐานที่เก่าที่สุดที่พบว่าชาวล้านนามีความเชื่อ เรื่องวันถูกสูญ และวันปลอด พบในจารึกวัดปราสาท (ชร.3) จารึกเมื่อ พ.ศ. 2039 หรือเมื่อ 508 ปีมาแล้ว เนื้อความในจารึกกล่าวว่า
โอกาสสาธุ สัปปุรุษ พุทธสาวกสัตไตรสรณ์ บวรอุดม อาคมวิวิธวิจิตร สุจริตอเนก ประเจกนานัปการ โภชาภิภุญชมาน ภุมาภุมนิสสิสยักษ์ รากษสปิศาจกุมภัณฑ์ คนธรรพ์มนุษย์ภุชงค์ พระสงฆ์สุราสุรินทร์ อินทร์พรหมาภิพรหม อุดมนิกายทั้งหลาย จุ่งฟังนิยายทั้งหลาย สายสารสวัสดี ช่วยชูศรีพุทธศาสน์ เดียรดาษด้วยมงคลดังนี้เท่าวันศักราชได้ 858 ตัว ปลายบ่มัวมีคู่ พร้อมด้วยหมู่หรคุณ วันบ่สูญ วันปลอด สุมงคลรอดด้วยดี ในปีรวายสีเสร็จ เดือนสิบเอ็ดออกนึ่งค่ำ พร่ำวันไทดับไส้ เม็งได้ชื่อวันจันทร์แล
อย่าง ไรก็ตามจะเห็นได้ว่าออกหนึ่งค่ำ หรือขึ้น 1 ค่ำวันจันทร์ ตามหลักเกณฑ์ของวันสูญ วันปลอด แล้ว ก็ยังคงเป็นวันสูญหาได้เป็นวันปลอดตามที่จารึกอ้างไว้ไม่ นั่นอาจเป็นเพราะผู้จารึกต้องการแสดงโวหาร และกล่าวถึงวันอันเป็นมงคลตาม “ขนบ” เข้าทำนองว่า “ตัดไม้ข่มนาม” มากกว่าที่จะยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เมื่อเป็นดังนี้เราก็พอจะอนุมานได้ว่าความเชื่อเรื่อง “วันดีวันเสีย” คงมีการอนุโลมตามความสะดวกและความเหมาะสมมานานแล้ว
วันหัวเรียงหมอน
วันหัวเรียงหมอนคือวันที่เหมาะแก่การทำพิธีมงคลสมรส ซึ่งถึงแม้จะหาฤกษ์อย่างอื่นมาได้แล้ว ก็ตาม แต่ก็มักจะตรวจสอบกับตำราวันหัวเรียงหมอนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง วันหัวเรียงหมอนที่พบในล้านนามี 2 ตำราที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ
ตำราที่ 1 วันหัวเรียงหมอนตรงกับ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ ขึ้น 2, 7, 10, 11, 12, 13 ค่ำ และ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ แรม 4, 7, 10, 13, 14 ค่ำ
ตำราที่ 2 วันหัวเรียงหมอนตรงกับ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ ขึ้น 3, 4, 5, 6, 10, 13,15 ค่ำ และ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ แรม 3, 5, 9, 11, 12 ค่ำ
นอกจากนี้ยังพบว่าทางภาคกลางก็มีคติความเชื่อเรื่องวันหัวเรียงหมอนเช่นเดียวกันแต่ก็มีเกณฑ์ต่างออกไปดังนี้
ตำราภาคกลาง วันหัวเรียงหมอนตรงกับ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ ขึ้น 7,10,13 ค่ำ และ
เดือนใดก็ตามที่ตรงกับ แรม 4, 8, 10, 14 ค่ำ
วันหัวเรียงหมอน เป็นวันที่ใช้ดูวันสำหรับประกอบพิธีแต่งงาน ในวรรณกรรมล้านนาที่กล่าวถึงวันนี้มากที่สุดก็คือ คำเรียกขวัญคู่บ่าวสาว (เจ้าบ่าวเจ้าสาว) ขอยกตัวอย่างบางส่วนดังนี้
เป็นวันมังคละดีแท้เล้าเลิศเนืองนอง
เจ้าสรรพสิทธิหน่อท้าวมาได้นางเทพไกสร
ได้เสวยนครบุรีใหญ่กว้าง
เป็นสิริมงคลสล้างเลิศนองเนือง
นักปราชญ์เจ้ากล่าวว่าเป็นวันหัวเรียงหมอนแม่นหมั้น
สองเจ้าเจื่องชั้นได้สมรสเป็นคู่หนอผัวเมีย
นอกเหนือจากวันตามความเชื่อที่ยกมาดังกล่าวยังมีวันตามความเชื่ออื่นๆ อีกมากที่ปรากฏในงานวรรณกรรมล้านนา เช่น วันเก้ากอง ซึ่งชาวล้านนาจะไม่ฌาปนกิจศพในวันดังกล่าวเป็นอันขาด ด้วยเชื่อว่าจะทำให้คนในครอบครัวของผู้ตายหรือคนในชุมชนนั้นเสียชีวิตตาม เป็นจำนวนมาก วันเก้ากองโดยทั่วไปมักนับโดยอิงอาศัยวันหนไทเป็นหลัก แต่ในวรรณกรรมบางเรื่อง ตลอดจนความเชื่อของชาวล้านนาบางส่วนเชื่อว่าวันเก้ากองตรงกับวันแรม 9 ค่ำ ซึ่งสอดคล้องกับงานวรรณกรรมล้านนาเรื่อง เวสสันตรชาดก ฉบับไผ่แจ้เรียวแดง กัณฑ์ชูชก ในตอนที่บรรดาเมียพราหมณ์รุมด่านางอมิตดา เพราะไม่พอใจที่ถูกสามีของพวกตนต่อว่าที่ปรนบัติสามีสู้นางอมิตดาไม่ได้ ดังความตอนหนึ่งว่า
ดั่งรือนางบ่หาผัวหนุ่มหน้อย พ้อยมาได้เถ้าพรักพร้อยหัวสั่นงันๆ ซ้ำมาเหม็นขี้ฟันและ ขี้เขี้ยว ปากเบี้ยวกอดคอนอน นี้ชา รอยว่านางได้ปูชาไฟยามกลางวันจักใกล้ตกต่ำ เดือนแรม 9 ค่ำ พร่ำว่าได้วัน 4 บ่มีอันนี้ รอยได้ปูชาเคราะห์ปีเดือนบ่ชอบ จังไรครอบคืนมา
การที่ผู้ประพันธ์เห็นว่าแรม 9 ค่ำเป็นวันไม่ดีอาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลความเชื่อเรื่องวันเก้ากอง ก็เป็นได้ เพราะวันเก้ากองเป็นวันที่ห้ามฌาปนกิจศพ (เผาศพ) หรือไม่ให้จุดไฟในเชิงพิธีกรรมนั่นเอง การที่เปรียบเปรยว่า ?รอยว่านางได้ปูชาไฟ? ก็อาจใช้แนวเทียบเดียวกัน
นอกจากนี้ยังปรากฏความเชื่อเรื่อง วันราหู คือวันพุธกลางคืน (กลางวันจักใกล้ตกต่ำ วัน 4) อีกด้วย ในทางโหราศาสตร์ถือว่าราหูเป็นตัวร้ายจะนำพามาซึ่งความเดือดร้อน เช่นในคำเรียกขวัญว่า ?วันนี้ก็เป็นวันดี วันพระญาธรรมมาเกิด สืบสร้างศาสนาพระเจ้า วันนี้นาหากเป็นวันดีใสบ่เส้า ราหูย้ายได้แสนวา นักขัตตาเท่ามาดูเปล่ง วรรณะเร่งบ่มีสูญ? อนึ่งจากคำประพันธ์ข้างต้นยังไขข้อข้องใจที่ว่า หากในเอกสารโบราณเขียนว่า วัน 1 วัน 2 เวลาอ่านจะต้องปรับอ่านว่าวัน(อา)ทิตย์ วันจันทร์ หรือยังจะคงอ่านว่าวัน 1 วัน 2 ตามเอกสาร ในคำประพันธ์ข้างต้นซึ่งมีสัมผัสบังคับไว้ทำให้ทราบว่าคนโบราณไม่ต่ำกว่า 300 ปีมาแล้ว อ่านว่าวัน 4 (วันสี่) ตามที่เขียน
บทสรุป
ผู้เขียนสันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่อง วันดีวันเสีย แบบต่างๆ คงเป็นความเชื่อที่ค่อยๆ เกิดขึ้นหลายลำดับช่วงเวลา และคงเป็นความเชื่อที่เกิดจากหลายบุคคล หรือหลายกลุ่มบุคคล และหลายภูมิภาค โดยแต่ละกลุ่มที่เชื่อก็คงเลือกเชื่อตามที่ตน ศรัทธา และเห็นว่า แม่น หรือที่ชาวบ้านมักพูดว่า “ศิษย์ต่างครู อาจารย์ต่างวัด หนังสือก้อมต่างคนต่างมี”
ต่อมาเมื่อมีผู้รวบรวมความเชื่อเรื่องวันเหล่านี้จากแหล่งต่างๆ จึงพบว่ามีความขัดแย้งกันอยู่มาก บางตำราว่าเป็นวัน “ดีมาก” แต่ขณะเดียวกันบางตำราก็กลับกล่าวว่าเป็นวัน “ร้ายมาก” แต่ความหลากหลายนี้ในอดีตคงไม่เป็นปัญหา ด้วยเหตุที่แต่ละคนแต่ละ ภูมิภาคก็เชื่อและยึดถือของตนไป อย่างไรก็ตามแนวคิดพื้นฐานของการมี “วันดีวันเสีย” ก็คงเพื่อต้องการสร้างความสบายใจ สร้างความเชื่อมั่น และสร้างค่านิยมเรื่อง “เวลาที่ถูกต้องเหมาะสม” อันจะเป็นการ “จัดระเบียบสังคม” ที่ตนอยู่ให้เป็นไปในแนวเดียวกัน
ความเชื่อเรื่องนี้ ทำให้ทราบว่าความเชื่อเรื่องนี้มีความสำคัญมากพอที่ทำให้กวีหรือผู้ประพันธ์ นำไปสอดแทรกในงานวรรณกรรมของตน วรรณกรรมที่มักกล่าวอ้างถึง “วันดีวันเสีย” มักเป็นวรรณกรรมที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น คำเรียกขวัญลูกแก้ว คำเรียกขวัญคู่บ่าวสาว บทซองานต่างๆ เป็นต้น สิ่งที่น่าสังเกตคือกวีจะมี “ขนบ” ในการสอดแทรกความเชื่อเรื่องนี้อย่างมีระบบกล่าวคือจะใช้ในตอนเกริ่นนำถึง “เวลาอันเป็นมงคล” ที่จะประกอบพิธีหรือกิจกรรมใดๆ ซึ่งเป็น “กลวิธี” ที่ใช้ส่งเสริมบุญบารมีของตัวเอกในเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นตัวละคร หรือบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ หากเป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม การเกริ่นนำเรื่อง “เวลาอันเป็นมงคล” นี้ก็เป็น “กลวิธี” ที่สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความอิ่มเอมใจ ให้กับเจ้าของงานหรือผู้ร่วมพิธีได้ไม่น้อย แม้บางครั้งการกล่าวอ้างเรื่อง “วันดีวันเสีย” เป็นเพียงการกล่าวอ้างตามขนบ หรือตามตำรา ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่ “วันดี” ตามการกล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างเข้าลักษณะที่ว่า “พูดให้ดีแล้วทุกอย่างก็จะดีตามที่พูด”
ฤกษ์ล่าง
ก่อนจะทำการมงคลใด ๆ ควรจะหาฤกษ์ที่ดี ต้องถือพยากรณ์พระเคราะห์ทั้ง 8 ทิศ เป็นหลัก และต้องตรวจดูกาลโยคปีปัจจุบันในปฏิทินโหรเสียก่อนว่า วันใด ฤกษ์ใดเป็นอุบาทว์ โลกาวินาศ และวันที่ให้ฤกษ์นั้นจะต้องไม่ตรงกับวันดับ คือที่เรียกว่า “ดิถีมหาศูนย์” หรือ “ดิถีพิฆาต” และอย่าให้วันนั้นเป็นวันกาลกิณีเดิมของผู้ประกอบการ และในภูมิปีก็ไม่ควรเป็นกาลกิณีด้วยควรใช้วันที่เป็น ธงชัย อธิบดี และวันที่เป็นมิตร และอย่าให้พระจันทร์เป็นศัตรู คือ เป็นอริ มรณะ วินาศ ต่อผู้ประกอบการ ให้วางพระจันทร์ไว้ในที่ดี เหมาะสมกับผู้ประกอบการ
ฤกษ์ หมายถึง คราวหรือเวลา ความปลอดภัยหรือความสำเร็จสมประสงค์ อำนวยความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ประกอบการนั้น ๆ ฤกษ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ฤกษ์บนและฤกษ์ล่าง
ฤกษ์บน เป็นชัยมงคลเบื้องสูง โดยถือตำแหน่งของพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ เป็นหลัก คือ กำหนดโดยจันทร์ พระจันทร์ต้องดีไม่เป็นอริ มรณะ และวินาศแก่ผู้ประกอบการ พระจันทร์โคจรให้คุณเช่นจันทร์ครุสุริยา ทางโหราศาสตร์ใด้กำหนดฤกษ์ไว้ ได้แก่
ทลิทโทฤกษ์ มหัทธโณฤกษ์ โจโรฤกษ์
ภูมิปาโลฤกษ์ เทศาตรีฤกษ์ เทวีฤกษ์
เพชฌฆาตฤกษ์ ราชาฤกษ์ สมโณฤกษ์
รวมเป็น 9 ฤกษ์ เรียกว่า “ฤกษ์บน” หรือ (นพดล)
ฤกษ์ล่าง ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องใต้ฟ้า หรือเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วยดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับ เช่นวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ และมีดิถี คือ ขึ้น แรม ดิถีธงชัย ดิถีพิฆาต อีกทั้งวันจม วันฟู วันลอย กทิงวัน อัคนิโรธ ทักทิน ยมขันธ์ จัดเป็นฤกษ์ย่อยต่าง ๆ รวมเรียกว่า “ฤกษ์ล่าง” หรือ (ภูมิดล)
ดิถีมงคล 5 ประการ
ดิถีมงคล 5 ประการ เพื่อใช้ทำการมงคลต่าง ๆ ดังนี้
1. ดิถีอมริสสโชค ดีสำหรับงานทั่วไปเกี่ยวกับความราบรื่นและลาภผล
2. ดีถีสิทธิโชค ดีสำหรับงานสำคัญที่เป็นโครงการระยะสั้น
3. ดิถีมหาสิทธิโชค ดีสำหรับงานที่เป็นโครงการระยะยาว
4. ดิถีชัยโชค ดีสำหรับงานที่ต้องต่อสู้แข่งขันหรือรบทัพจับศึก
5. ดิถีราชาโชค ดีสำหรับงานที่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
บางรายเลือก “ดิถีชัยโชค” เป็นวันมงคลสมรส
ข้างขึ้นข้างแรม ของดิถีมงคล 5 ประการ (อักษรย่อ คือชื่อวัน ส่วนนับบนลงล่างตัวเลขคือ ขึ้นแรม)
อา |
จ |
อ |
พ |
พฤ |
ศ |
ส |
|
8 |
3 |
9 |
2 |
4 |
1 |
5 |
อมริสสโชค |
11 |
5 |
14 |
10 |
9 |
11 |
4 |
สิทธิโชค |
14 |
12 |
13 |
4 |
7 |
10 |
15 |
มหาสิทธิโชค |
8 |
3 |
11 |
10 |
4 |
1 |
11 |
ชัยโชค |
6 |
3 |
9 |
6 |
10 |
1 |
5 |
ราชาโชค |
ข้างขึ้น ข้างแรม ของดิถีมงคล 5 ประการ (อักษรย่อ คือ ชื่อวัน ส่วน นับบนล่างตัวเลขคือขึ้นแรม)
อมริสสโชค วันที่มี โชค
สิทธิโชค วันที่ประสบความสำเร็จ
มหาสิทธิโชค วันที่ประสบความสำเร็จอันดียิ่ง
ชัยโชค วันที่มีชัยชนะ
ราชาโชค วันที่มีโชคอย่างยิ่งใหญ่
ที่มา http://www.teeneelanna.com/moojoomhao/home/space.php?uid=1&do=blog&id=263
ขอบคุณข้อมูลจาก http://moradoklanna.com/