หางดง (คำเมือง: ) เป็นอำเภอหนึ่งในเขตปริมณฑลของนครเชียงใหม่ที่มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อำเภอหางดงมีความพร้อมทุกๆด้าน มีการเติบโตอย่างอสังหาริมทรัพย์ บ้านจัดสรร โรงแรมรีสอร์ท ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก
หางดงปัจจุบันมีสภาพเมืองที่กลมกลืนกับนครเชียงใหม่จนเรียกได้ว่าคือเมืองเดียวกัน อำเภอหางดงมีสภาพทางเศรษฐกิจดีมาก มีการจราจรที่คับคั่งที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งเป็นอำเภอที่รองรับความเจริญของนครเชียงใหม่เพื่อขยายไปยังศูนย์กลางทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
ชื่อเดิม
เดิมชื่อ อำเภอแม่ท่าช้าง แล้วเปลี่ยนเป็น อำเภอหางดง ในปี พ.ศ. 2460 จนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
อำเภอหางดง เดิมมีนามว่า “แขวงแม่ท่าช้าง” เป็นเขตการปกครองที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จัดระบบการปกครองที่เรียกว่า มณฑลเทศาภิบาล กำหนดแบ่งเมืองเชียงใหม่เป็นหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองชั้นในแขวงแม่ท่าช้างจัดอยู่ในเขตหัวเมืองชั้นในหัวหน้าผู้รับผิดชอบเรียกว่า “นายแขวง” นายแขวงคนแรกของแขวงแม่ท่าช้าง คือ หลวงคชดิษฐาภิบาล (ไผ่) ระหว่างปี พ.ศ. 2451 – 2453 แขวงแม่ท่าช้างได้เปลี่ยนฐานะเป็นชื่ออำเภอหางดง
พื้นที่อำเภอหางดงก่อนนี้มีสภาพรกร้างว่างเปล่า ทั้งหมู่บ้านและราษฎรมีน้อย เวลานั้นมีพญามะโน เจ้าน้อยมหาอินทร์ และพญาประจักร์ ได้ครอบครอง ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ที่เรียกว่า “แม่ท่าช้าง” นั้น กล่าวกันว่า ในท้องที่นี้มีดงกรรมอยู่ดงหนึ่ง เป็นดงไม้สัก มีลำน้ำแม่ท่าช้างไหลผ่านดงนี้ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนี้ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร เวลาเมื่อเจ้านายทางเชียงใหม่จะไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือขุนยวมก็เดินผ่านทางนี้ เมื่อมาถึงดงนี้จำต้องลงจากหลังช้างแล้วข้ามท่านี้เข้าดงไป จึงเรียกลำน้ำนี้ว่า “แม่ท่าช้าง” ในสมัย ร.ศ.120 ทางการได้มีการให้จัดตั้งแขวงขึ้น โดยพิจารณาถึงหมู่บ้านใหญ่ ๆ หลายตำบลรวมกันในระยะทางที่จะไปมาถึงได้ภายใน 6 ชั่วโมง หรือ มีราษฎรมากกว่าหมื่นคนจึงจัดเป็นหนึ่ง ๆ ทำนองอำเภอหนึ่งเช่นเดี๋ยวนี้ ในขณะนั้นจึงเรียกว่า “แขวงแม่ท่าช้าง” บ้างก็ว่า “แม่ท่าช้าง” มาจากคำว่า “แม่ต๋า จ้าง” หรือ “แม่ตาช้าง” ซึ่งหมายถึง ลำน้ำ แม่ท่าช้าง ที่ต้นน้ำออกมาจากช่องน้ำเล็ก ๆ เหมือนตาช้าง จึงเรียกว่า “แม่ต๋าจ้าง”
ปี พ.ศ. 2457 ทางการได้เปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อให้ตรงกับนามตำบลที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่เป็นอำเภอ “หางดง” เพราะอยู่ทางทิศใต้ของดงกรรมดังกล่าว คำว่า หาง แปลว่า ท้าย คือทางทิศใต้หรือท้ายของดงกรรม ต่อมาวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2481 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศว่า “ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบอำเภอหางดง เป็นกิ่งอำเภอ ขนานนามว่า กิ่งอำเภอหางดง และให้ไปขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในเดือนเดียวกันนี้กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่ 206/2481 ลงวันที่ 13 กันยายน 2481 อนุมัติให้ตำบลหารแก้ว ตำบลสันกลาง และตำบลหนองตอง ไปขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอ สันป่าตองกับโอนตำบลขัวมุงและตำบลสันทรายไปขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอสารภี คงเหลืออยู่ 8 ตำบลเท่านั้น การไปขึ้นกับอำเภอเมืองเชียงใหม่นั้น ต่อมาปรากฏว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากต้องเดินทางไปติดต่อราชการที่อำเภอเมือง ระยะทางถึง 15 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้พิจารณาขึ้นเป็นอำเภอหางดงอีกครั้งหนึ่ง และให้รวมตำบลหารแก้วและตำบลหนองตอง กลับมาขึ้นกับอำเภอหางดงเหมือนเดิม และแต่งตั้งในให้นายเที่ยง ถีระวงษ์ ตำแหน่งผู้ตรวจการเทศบาลจังหวัดตาก มาดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอหางดงเป็นคนแรก
คำขวัญ
“เศรษฐกิจดี สตรีแสนสวย ร่ำรวยหัตถกรรม วัฒนธรรมมั่นคง หางดงพัฒนา”
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอหางดงมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสะเมิงและอำเภอแม่ริม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสารภี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองลำพูน (จังหวัดลำพูน) และอำเภอสันป่าตอง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง และอำเภอสะเมิง
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอหางดงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 ตำบล 109 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2559)[1] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2559)[1] |
|
---|---|---|---|---|---|---|
1. | หางดง | Hang Dong | 9 | 10,866 | 7,129 3,737 |
(ทต. หางดง) (ทต. แม่ท่าช้าง) |
2. | หนองแก๋ว | Nong Kaeo | 9 | 5,365 | 5,365 | (ทต. หนองแก๋ว) |
3. | หารแก้ว | Han Kaeo | 9 | 5,815 | 5,815 | (ทต. หารแก้ว) |
4. | หนองตอง | Nong Tong | 14 | 8,612 | 8,612 | (ทต. หนองตองพัฒนา) |
5. | ขุนคง | Khun Khong | 9 | 5,174 | 5,174 | (อบต. ขุนคง) |
6. | สบแม่ข่า | Sop Mae Kha | 5 | 2,413 | 2,413 | (อบต. สบแม่ข่า) |
7. | บ้านแหวน | Ban Waen | 13 | 10,713 | 10,713 | (ทต. บ้านแหวน) |
8. | สันผักหวาน | San Phak Wan | 7 | 14,557 | 14,557 | (ทต. สันผักหวาน) |
9. | หนองควาย | Nong Khwai | 12 | 10,759 | 10,759 | (ทต. หนองควาย) |
10. | บ้านปง | Ban Pong | 11 | 5,331 | 5,331 | (ทต. บ้านปง) |
11. | น้ำแพร่ | Nam Phrae | 11 | 6,830 | 6,830 | (ทต. น้ำแพร่พัฒนา) |
รวม | 109 | 86,435 | 78,848 (เทศบาล) 7,587 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอหางดงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่
เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองตองทั้งตำบล
เทศบาลตำบลหางดง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหางดง
เทศบาลตำบลหารแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหารแก้วทั้งตำบล
เทศบาลตำบลบ้านแหวน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแหวนทั้งตำบล
เทศบาลตำบลสันผักหวาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสันผักหวานทั้งตำบล
เทศบาลตำบลหนองควาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองควายทั้งตำบล
เทศบาลตำบลแม่ท่าช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหางดง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลหางดง)
เทศบาลตำบลหนองแก๋ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแก๋วทั้งตำบล
เทศบาลตำบลบ้านปง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านปงทั้งตำบล
เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำแพร่ทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขุนคงทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลสบแม่ข่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสบแม่ข่าทั้งตำบล