ฮอด (คำเมือง: ) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด และเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทิวเขา มีความยากลำบากในการเดินทางในอดีต มีหอนาฬิกาเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอ เป็นทางผ่านของผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติ
ตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า สมัยประมาณ 1,300 ปี ล่วงมาแล้วครั้งนั้นมีเมืองหริภุญชัยนคร เมืองลำพูน ในสมัยนั้น มีพื้นที่ส่วนใหญ่รอบๆเมืองยังเป็นป่าที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย มีไข้ป่าชุกชุม ในปัจจุบันหลักตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีฤาษีสองตนนามว่า วาสุเทพฤาษี และสุภกทันตฤาษี ทั้งสองฤาษีเป็นสหายกัน ได้ปรึกษาหารือถึงการจะสร้างเมืองหริภุญชัยริมฝั่งแม่น้ำกวง สมัยนั้นคงเป็นสาขาของแม่น้ำปิง เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ขาดผู้ที่จะปกครองบริหารบ้านเมือง ฤาษีทั้งสองตนจึงส่งสารมอบให้ ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางเจ้าจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรวรรษดิ์ หรือบางตำนานเรียกว่า ลพราชา กษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ ลพบุรี เห็นชอบจึงมีพระบรมราชองค์การให้พระราชธิดาทรงพระนามว่า พระนางจามเทวี เสด็จครองเมืองหริภุญชัย พร้อมไพร่พลประกอบด้วย เศรษฐี คหบดี 500 คน และได้ทูลลาพระราชบิดาและพระสวามี ในขณะนั้นพระนางจามเทวีทรงตั้งพระครรภ์ได้สามเดือน ครั้นเมื่อถึงเมืองหริภุญชัยได้คลอดพระโอรสฝาแฝด และได้ครองเมืองหริภุญชัยและเมืองเขลางค์นครในกาลต่อมา พระนางจามเทวีได้รวบรวมไพร่พลโดยทางเรือรอนแรมขึ้นตามลำน้ำแม่ปิงผ่านเกาะแก่งต่างๆ ด้วยความลำบากยากเข็ญ บรรดาไพร่พลได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่า สัตว์ป่าและเรืออับปาง ในระหว่างการเดินทางเป็นจำนวนมากได้เสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยริมน้ำ เช่น เวียงระแกง หรือระแหง ได้หยุดพักทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ออกตากแดด ณ สถานที่เวียงกะทิกะ ปัจจุบันคืออำเภอบ้านตาก รอนแรมจนกระทั่งถึงหมู่บ้านซึ่งผู้คนเซื่องซึม ง่วงเหงา ไม่ค่อยร่าเริง จึงขนานนามว่า เวียงเทพบุรีหรือจำเหงา ปัจจุบันคืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก นับเวลาที่เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งเห็นว่าประหลาดนักได้ให้ไพร่พลหยุดยั้งพักแรม พระนามจามเทวีได้ให้สร้างนครไว้ที่นี้เป็นที่ระลึกและได้สร้างวัดวาอาราม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จนกระทั้งเสร็จเรียบร้อย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 1201 ขนานนามว่า พิศดารนคร ปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณบ้านวังลุง หมู่ที่ 3 ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ คำว่า “ฮอด” หมายถึงว่า ถึงแล้ว หรือมาถึงแล้ว และได้สร้างวัด จำนวน 99 วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พล ที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง เช่น ได้สร้างเจดีย์พร้อมพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถวายเป็นพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกขานพระเจ้าโท้ ตามคำอุทานในภาษาล้านนาว่า โท๊ะ แปลว่า ใหญ่โต
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2450 ได้ยกระดับเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บ้านแพะดินแดง หมู่ที่ 2 ตำบลฮอด อำเภอฮอด ต่อมาปี พ.ศ.2505 ได้มีการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตากทำให้ที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำปิงกลายเป็นเขตน้ำท่วม ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมการปกครอง จำนวน 6 ล้านบาท ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอฮอด บริเวณบ้านห้วยล้มป่อย หมู่ที่ 9 ตำบลหางดง เป็นอาคารหลังใหม่เป็นแบบ 2 ชั้น แทนอาคารหลังเก่าที่ทรุดโทรม และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2535 ได้ทำพิธีเปิดที่ว่าการอำเภอหลังใหม่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2536
ในหน้าร้อนจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “กิโลเก้า” ซึ่งทำรายได้ให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของผู้เดินทางหรือผู้ที่เหนื่อยจากการทำงาน เพราะมีลำน้ำแจ่มไหลคั่น เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเป็นแหล่งน้ำที่มีหาดทรายสวยงามแห่งเดียวของเชียงใหม่
คำขวัญ
“ออบหลวงเลื่องลือชื่อ ชนยึดถือประเพณี สวนสนเขียวขจี ฮอดเป็นศรีรวมเผ่าชน”
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอฮอดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่มและอำเภอจอมทอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านโฮ่งและอำเภอลี้ (จังหวัดลำพูน)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดอยเต่าและอำเภออมก๋อย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสบเมยและอำเภอแม่สะเรียง (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอฮอดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 61 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2559)[1] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2559)[1] |
|
---|---|---|---|---|---|---|
1. | หางดง | Hang Dong | 13 | 10,594 | 5,933 4,661 |
(ทต. ท่าข้าม) (อบต. หางดง) |
2. | ฮอด | Hot | 5 | 3,183 | 3,183 | (อบต. ฮอด) |
3. | บ้านตาล | Ban Tan | 10 | 5,190 | 5,190 | (ทต. บ้านตาล) |
4. | บ่อหลวง | Bo Luang | 13 | 12,048 | 12,048 | (ทต. บ่อหลวง) |
5. | บ่อสลี | Bo Sali | 10 | 8,020 | 8,020 | (อบต. บ่อสลี) |
6. | นาคอเรือ | Na Kho Ruea | 10 | 4,768 | 4,768 | (อบต. นาคอเรือ) |
รวม | 61 | 43,803 | 23,171 (เทศบาล) 20,632 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอฮอดประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
เทศบาลตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหางดง
เทศบาลตำบลบ่อหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อหลวงทั้งตำบล
เทศบาลตำบลบ้านตาล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านตาลทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลหางดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหางดง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลท่าข้าม)
องค์การบริหารส่วนตำบลฮอด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฮอดทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสลี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อสลีทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนาคอเรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาคอเรือทั้งตำบล
แหล่งท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติออบหลวง