อำเภอเวียงแหง

0
2431

เวียงแหง (คำเมือง: Lanna-Wiang Haeng.png) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

 

ประวัติ

อำเภอเวียงแหงมีชื่อเดิมว่า “เมืองแหง” มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านตามเส้นทางเดินทัพและการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่ ราชธานีของอาณาจักรล้านนา กับเมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) เมืองแหงเป็นเมืองกึ่งกลางเส้นทางตามลำน้ำแม่แตง มีพื้นที่กว้างใหญ่ เหมาะแก่การสะสมเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ

เป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ทรงกรีธาทัพทหาร 90,000 นาย มายึดเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2101
เป็นเส้นทางเดินทัพของ 19 เจ้าฟ้าไทใหญ่ ทหาร 60,000 นาย ที่พระเจ้าบุเรงนองส่งมาช่วยเมืองพิษณุโลกตามคำขอของขุนพิเรนทรเทพ เนื่องจากทางล้านช้างยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2108
เป็นเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงยกทัพทหาร 100,000 นาย มุ่งไปยึดเมืองนายกลับคืน และตรงไปทำลายพระเจ้ากรุงอังวะในปี พ.ศ. 2148
เป็นเส้นทางหลบหนีของเนเมียวสีหบดี ขุนศึกพม่าผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ ล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา หลังจากถูกกองทัพพระเจ้าตากขับไล่ออกจากเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2317
เป็นเส้นทางรับเจ้าพม่ามายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ปี พ.ศ. 2408

ตำนานที่มาของชื่อ”เวียงแหง” ในอดีต มีตำนานเกี่ยวพันกับลำน้ำแม่แตงเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์องค์อุปฐาก เสด็จจาริกและสั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ จนบรรลุถึงเมืองเมืองหนึ่ง พระองค์ได้ประทับพักแรม ณ ยอดเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง พอรุ่งขึ้นวันใหม่ มีพวกชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงหรือเรียกอีกชื่อว่า(ยาง) บ้านแม่ยางกุ่มได้นำข้าวน้ำปลาอาหาร พร้อมกับแตงโมมา ถวายพระองค์พระอานนท์ก็นำแตงโมไปปอกเปลือกและผ่าเป็นซีกๆ แล้วทิ้งเปลือกแตงโมลงไปในลำธาน ซึ่งต่อมาลำธารแห่งนี้ก็ปรากฏชื่อว่า “ลำน้ำแม่แตง” ขณะที่พระพุทธองค์ได้เสวยแตงโมที่พระอานนท์นำไปถวายนั้น พระทนต์(ฟัน) ก็กระเทาระออกมา คำว่าแหง ด้วยเหตุนี้เมืองแหงนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวียงแหง” ซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองเป็นชาวไทยใหญ่ เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองคนสุดท้าย คือพ่อแหงชาววา มีอายุอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2472 ปัจจุบันยังคงมีสถูปบรรจุอัฎฐิอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเวียงแหงและยังปรากฏคูเมือง ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของบ้านเวียงแหง เวียงแหง เดิมเป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สภาพเป็นท้องที่กันดารและติดกับชายแดนประเทศพม่า มีสภาพเป็นเมืองปิด การคมนาคมยากลำบากทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการปกครอง พัฒนา และการป้องกันรักษาความสงบ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น กิ่งอำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ประกอบด้วย 2 ตำบล 12 หมู่บ้าน จนกระทั่งได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งเป็นอำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 179 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536) ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน

คำขวัญ

“พระธาตุแสนไหเป็นศรี ประเพณีหลายเผ่า ชมทิวเขาสุดสยาม งามล้ำค่าฟ้าเวียงแหง”

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอเวียงแหงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ อาณาเขตส่วนหนึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า อำเภอเวียงแหงมีเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอเวียงแหงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับที่ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด
(พ.ศ. 2559)
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น
(พ.ศ. 2559)
1. เมืองแหง Mueang Haeng 12 13,898 13,898 (อบต. เมืองแหง)
2. เปียงหลวง Piang Luang 6 22,215 22,215 (อบต. เปียงหลวง)
3. แสนไห Saen Hai 5 8,450 8,450 (ทต. แสนไห)
รวม 23 44,563 8,450 (เทศบาล)
36,113 (อบต.)

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอเวียงแหงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่

เทศบาลตำบลแสนไห ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนไหทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแหงทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเปียงหลวงทั้งตำบล

สถานที่สำคัญ

น้ำตกแม่หาด
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หนองอาบช้างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและ บริเวณนั้นคาดว่าเป็นสถานที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต
วัดพระธาตุแสนไหที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วัดเปียงหลวง
วัดฟ้าเวียงอินทร์
ตลาดการค้าชายแดนไทย-พม่า บ้านหลักแต่ง
วัดพระธาตุเวียงแหง (สถานที่เก็บรักษาพระมาลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)