แน

0
2180

หรือปี่แน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ ตระกลูสรไน ใช้ในการเกิดทำนองในวงปี่พาทย์หรือวงพาทย์และวงกลองแอวที่แพร่หลายอยู่ในล้านนา แม้ว่าล้านนาจะมีปี่สรไนมานานแล้ว แต่ที่ต้องเรียกว่าสรไนเป็นแนนั้น อาจารย์ยงยุทธ ธีรศิลป์ สันนิษฐานว่าน่าจะเรียกตามชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า มีการแบ่งแนออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. แนหน้อย ใช้บรรเลงนำมีเสียงสูงพลิ้ว ภาษาล้านนาเรียกว่าเสียง “อิ้ว” หรือ “ลิ้ว” สามารถเลียนแบบเสียงธรรมชาติได้เกือบทุกอย่าง
๒. แนหลวง มีขนาดใหญ่กว่า และเสียงทุ้มต่ำ เวลาเล่นประสมวงจะเป่าเสียงเลอๆ คือเป่าตามทำนองหลักไม่มีลูกเล่น

ลักษณะโดยทั่วไปของแน ก็เช่นเดียวกันกับปี่ในตระกูลสรไนทั้ง หลาย คือ เป็นปี่ที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเป็นเสียงได้ โดยมีรูปแบบของการผลิตเสียงเป็นแบบลิ้น (Reeds) ประเภทของลิ้นจัดอยู่ในแบบกระทบ (Concussion Reeds) ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นลิ้นคู่ (Double Reed) สำหรับปี่ไทยทั้งหลายและแน ของเชียงใหม่เป็นลิ้น  2  คู่  หรือ  4  ชิ้น (Quadruple Reed) ส่วนแนของลำปางนั้น มีลิ้น  3  คู่  หรือ  6  ชิ้น (Hexadruple Reed) โดยทั่วไปแล้ว แนประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ลิ้นเป่า
2. ท่อ (กำพวด หรือ ประทวด)
3. ถะแหว (กะบังลม)
4. เลาแน
5. รูบังคับเสียง
6. ถวา (ลำโพง)
7.เชือกรั้ง
ซึ่งจะได้อธิบายเพิ่มตามหัวข้อ ดังนี้

    1.  ลิ้นแน
ลิ้นแน เป็นลิ้นคู่แบบกระทบ มีจำนวน 2 – 3 คู่ หรือ 4 – 6 ชิ้น นิยมใช้ใบตาลที่เรียก “ตาลแฮ” ซึ่งมีคุณสมบัติ บาง ลื่น มีความเหนียว ไม่อ่อนตัวง่าย ใช้เป่าได้นาน ให้เสียงที่มีคุณภาพดี  ลิ้นแนที่ทำจากตาลแฮมักใช้ใบสด เลือกเอาใบที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เมื่อฉีกออกมาจากทางหรือก้านแล้ว นำมามัดรวมกันล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นจึงนำไปต้ม ส่วนมากมักฝากต้มไปกับหม้อน้ำที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว บางรายก็ใช้วิธีต้มโดยผ่ามะเขือขื่นที่แก่จัด 2 – 3 ลูก ใส่ลงไปในน้ำที่ต้มด้วย  และอาจต้มถึงสองน้ำ บางรายต้มกับมะขามเปียก เกลือ และอาจใส่ปูนกินหมากลงไปด้วย เมื่อน้ำงวดลง ให้เติมน้ำ ต้มต่อไป ทำเช่นนี้  2  ครั้ง  วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ใช้วิธีนึ่ง โดยนำไปวางไว้บนข้าวเหนียวในไหข้าวขณะที่มีการนึ่งข้าว เพื่ออาศัยไอน้ำที่ทำให้ข้าวเหนียวสุกนั้นทำให้ใบตานพลอยสุกไปด้วย
เสร็จจากกรรมวิธีทำให้ใบตาลสุกแล้วก็จะนำมาผึ่งแดดให้แห้ง บางรายมีการใช้เตารีดทับอีกครั้งหนึ่ง ใช้กรรไกรตัดให้มีความยาวพอสำหรับการทำลิ้นแนแล้วจึงม้วนเก็บไว้ในกล่อง  เมื่อหากต้องการทำแนเมื่อใด ก็นำใบตาลมาแช่น้ำอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อทำให้นิ่มและสะดวกต่อการตัดแต่งต่อไป

    2.  ท่อ (กำพวด หรือ ประทวด)
ท่อ คือส่วนสำหรับเสียบลิ้น มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กเชื่อมต่อโดยเสียบเข้ากับเลา ท่อทั่วไปมักทำด้วยโลหะประเภททองเหลือง ยุคก่อนนิยมใช้ทองเหลืองฝาบาตร ด้วยว่ามีความหนากำลังพอเหมาะ วิธีทำคือ เหลาไม้ให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตามที่ต้องการ (ประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร) จากนั้นนำทองเหลืองที่ตัดเตรียมไว้มาพันกับไม้ แล้วค่อยๆ คลึงจนทองเหลืองแนบสนิทดีกับไม้  แล้วจึงเอาขี้ผึ้งแท้ชันให้รอบ  จากนั้นใช้ด้ายพันรอบหลายๆ ชั้นเพื่อกันลมรั่ว และช่วยให้เกิดการกระชับแน่นเมื่อนำไปเสียบเข้ากับรูเลาแน

ความกว้างของรูท่อ มีผลต่อคุณภาพของเสียงด้วย คือ รูท่อแคบจะทำให้เป่าง่ายไม่เปลืองลม แต่เสียงแนที่ได้มักจะแบน คือ เสียงจะบีบ ลักษณะเล็กแหลม หากรูท่อกว้างแม้จะเปลืองลมบ้างก็ตาม แต่จะได้เสียงที่ดังกังวานไปในวงกว้าง  ดังนั้นสล่าแนหรือคนเป่าแนจึงมีท่อส่วนตัวที่มีขนาดเหมาะสมกับกำลังลมของตน
ความยาวของท่อแนหน้อยประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร ท่อแนหลวงประมาณ 5.0 – 7.5 เซนติเมตร เหตุผลที่ท่อแนต้องมีความยาวแตกต่างกันนั้นก็  เพื่อใช้ในการเทียบเสียงให้เข้ากันตามหลักการที่ว่า หากท่อมีขนาดของแนผ่าศูนย์กลางเท่ากันแล้ว ท่อที่ยาวกว่าเสียงจะต่ำกว่าท่อที่สั้น ดังนั้นสล่าแน (คนเป่าแน) จึงต้องมีท่อที่มีความยาวต่างกันไว้หลายอัน สำหรับปรับเสียงให้เข้ากับแนเลาอื่นหรือวงดนตรีอื่น

    3.  ถะแหว (กะบังปี่หรือกะบังลม)
แนโดยทั่วไปจะมีถะแหวซึ่งเป็นแผ่นแบนวงกลมทำด้วยทองเหลือง กะลามะพร้าวหรือพลาสติก เป็นส่วนต่อจากลิ้นปี่ลงมา ประโยชน์คือบังไม่ให้ลมรั่วจากปาก ช่วยผ่อนคลายมิให้ผู้เป่าเกร็งริมฝีปากนานจนเกินไป  แต่แนแบบลำปางไม่มีถะแหว

    4.  เลาแน
เลาแนส่วนมากจะทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เกล็ด (ชิงชัน) มะเกลือ ประดู่ ลักษณะภายในของเลาแนจะเป็นท่อผาย คือ ส่วนบนหรือส่วนที่ใช้เสียงท่อจะมีขนาดเล็ก แล้วจึงค่อยผายออกตรงปลายของเลาแน

    5.  รูนับ หรือ รูนิ้ว
แนของลำปางมี  6  รูและมีรูคางหรือรูนิ้วค้ำ ส่วนแนเชียงใหม่และลำพูนมี  7  รู ไม่มีรูคาง  รูคางหรือรูนิ้วค้ำนี้จะอยู่ตรงกันกับรูบนสุดพอดี รูปแบบของการวางมือและนิ้วของแนแบบ  7  รูนั้น มือด้านบนจะใช้  4  นิ้ว มือด้านล่างใช้  3  นิ้ว ส่วนแนที่มี  6  รู  นั้น ทั้งมือด้านบนและด้านล่างจะใช้ข้างละ  3  นิ้วเท่ากัน แนทั้งสองชนิดนี้จะใช้มือซ้ายหรือขวาอยู่บนหรือล่างได้ตามความถนัด

    6.  ถวาแน (ลำโพง)
ถวา (อ่าน – ถะหวา) ถวาแนหลวง ทำด้วยโลหะ เช่น ทองเหลือง สำริด หรือเงิน ถ้าเป็นถวาแนน้อยแบบลำปางจะทำด้วยไม้ซึ่งต่างจากเชียงใหม่ ที่ถวาแนหน้อยทำด้วยโลหะ เช่นเดียวกับแนหลวง  ถวา แนนอกจากจะมีประโยชน์ในการเป็นลำโพงเสียงให้กระจายออกไปได้ดีแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการปรับแต่งเสียงต่ำสุดของแนไม่ให้เลอ (เพี้ยน) อีกด้วย

    7.  เชือกรั้ง
เป็นเชือกใช้ผูกถวามิให้หลุดออกจากเลาแน และยังเป็นตัวรั้งให้ถวาอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการหลังจากการปรับเสียงแล้ว วัสดุที่นำเอามาทำเป็นเชือกรั้ง ที่ยอมรับกันว่าสวยงามก็คือ สายนกหวีดของตำรวจหรือสายสะพายดาบ

รายละเอียดเกี่ยวกับแนยังมีอีกมาก โปรดติดตามต่อในวันอังคารต่อไป

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพลายเส้นโดยเนติ พิเคราะห์ และภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล )

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ :http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/09/27/